นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ผักกระชับ เป็นผักพื้นบ้านในภาคตะวันออก จะเกิดขึ้นหลังจากฤดูทำนาปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเจริญเติบโตในช่วงแล้ง ปัจจุบันเป็นผักที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจึงมีเกษตรกรทำการผลิตผักกระชับในแปลงเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายและสามารถสร้างรายได้ในราคา 100-150 บาทต่อกิโลกรัม ผักกระชับเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดต่างๆ ในท้องถิ่น พบว่ามีราคาสูงกว่าและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการเพาะปลูกผักกระชับมีโรคและแมลงศัตรูน้อย จึงเหมาะที่จะทำการผลิตเป็นพืชอินทรีย์ได้
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับแบบครบวงจร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในกระบวนการปลูกผักกระชับ
เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปลูกผักกระชับเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกต้นอ่อนกระชับและลดเวลาการหยอดเมล็ดของเกษตรกร ใช้ล้อขับเคลื่อนในการหมุนให้เมล็ดกระชับลงในร่องที่เปิดเตรียมไว้ โดยมีความสามารถในการทำงานเร็วกว่าการใช้แรงงานคนเดินปลูก
ส่วนเครื่องเกี่ยวนวดกระชับ ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเมล็ด มีช่วงระยะเวลาในการเก็บสั้นคือ 15 วัน จึงต้องเร่งให้ทันเวลา ในขณะที่ขั้นตอนการนวดและทำความสะอาดก็ใช้เวลานาน เครื่องเกี่ยวนวดกระชับจะทำการเก็บเกี่ยว นวดและทำความสะอาดเมล็ดให้เสร็จในขั้นตอนเดียว ลดแรงงาน เวลา และต้นทุนการทำงานของเกษตรกร
เครื่องเพาะต้นอ่อนผักกระชับ ที่ผ่านมาการผลิตต้นอ่อนผักกระชับเป็นการผลิตโดยแรงงานคน 100% ใช้เวลาในการจัดการมาก การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นการช่วยเพิ่มการผลิตให้สูงขึ้น ลดเวลาและแรงงานคนในการเพาะต้นอ่อน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นอ่อนผักกระชับ เชื่อว่าถือชุดเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับ ทำงานแบบครบวงจรในทุกขั้นตอน ทั้งการปลูกในแปลงเมล็ดพันธุ์ การเกี่ยวนวด และการเพาะต้นอ่อนผักกระชับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผักกระชับ ลดเวลา ค่าใช้จ่ายและแรงงานในกิจกรรมต่างๆ ของการปลูกผักกระชับและเพาะต้นอ่อนขาย เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร
ที่มาข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221213150339528