เกษตรกรยางพาราเตรียม เฮ ศอ.บต. ร่วมกับ วช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เคาะงานวิจัยช่วยแก้ “โรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา” ได้สำเร็จแล้ว
วันนี้ (27 มีนาคม 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมจับคู่ matching งานวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำร่องการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานในการประชุม และมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางเข้าร่วมประชุมผ่านระบบซูม เพื่อร่วมพิจารณาหารือนำแนวทางงานวิจัย เรื่อง การประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ มาขยายผลสู่การปฏิบัติจริง
สืบเนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศอ.บต. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยสนับสนุนงานวิจัยทั้งสิ้น 39 ทุน และมีงานวิจัย 3 ผลงาน ที่พร้อมนำร่องในการใช้ประโยชน์ตามภารกิจงานของ ศอ.บต. และสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ คือ
1.งานวิจัยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราฯ
2.งานวิจัยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะพื้นเมือง เพื่อยกระดับรายได้ของเยาวชนกลุ่มเปราะบาง และ
3.งานวิจัยพัฒนาวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (หวายเทียม) ตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG
ผศ.ดร.อิสมาแอ เจ๊ะหลง นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เผยว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้วิจัยนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราจากธรรมขาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และได้ทดลองใช้ในแปลงทดลอง ปรากฏว่า สามารถป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันแก่ยางพาราที่ยังไม่เกิดโรค อีกทั้งยังสามารถช่วยรักษาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา สำหรับต้นที่เกิดโรคแล้ว โดยยางพาราสามารถดูดซึมสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวจากการดูดซึมทางราก สู่ลำต้น และหล่อเลี้ยงไปยังใบ นอกจากนี้ยีงพบว่า สารชีวภัณฑ์ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มน้ำยางพาราแก่เกษตรกร 30-50% อีกด้วย
ด้านเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาซับซ้อน มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นให้แก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ในการนำ “งานวิจัยและงานวิชาการ” สู่นำการแก้ไขปัญหา ที่หมายรวมถึงการพัฒนาสังคมจิตวิทยาทั้งระบบ เนื่องจากงานวิจัยเป็นชิ้นงานที่ได้รับการสืบค้นแนวทาง จากรากลึกของปัญหา สู่แนวทางการแก้ไขที่มีแนวทางเป็นไปได้ และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230327205541255