อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขึ้นแท่นเป็นฐานผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) อันดับ 2 ของโลก โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2566) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ได้ให้ทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพจำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาทครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายใต้แนวคิด BCG ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนโดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีการจัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป ในการขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระหว่างปี 2565-2567 ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกิดการลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566
ล่าสุด Braskem บริษัทผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลกได้ร่วมทุนกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งโรงงานไบโอ-เอทิลีจังหวัดระยอง ผลิตเอทิลีนชีวภาพในไทยเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งข้อมูลจาก European Bioplastics พบว่าอัตราการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ2.2 ล้านตัน ในปี 2565 และคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้น 6.3 ล้านตันในปี 2570 พลาสติกชีวภาพนำมาใช้ในตลาดจำนวนมากขึ้นโดยใช้ทดแทนพลาสติก ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สำหรับจัดเลี้ยง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคยานยนต์ การเกษตร/พืชสวน ของเล่นไปจนถึงสิ่งทอและส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วน และบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพลาสติกชีวภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้งานยังหลากหลายไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์และการขนส่ง หรืออาคารและการก่อสร้างยังคงเพิ่มขึ้นด้วยกำลังการผลิตโพลีเมอร์สำหรับใช้งานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย