ฟางข้าว 4 จังหวัดอีสาน ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร

share to:

Facebook
Twitter

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) เผยถึงผลการศึกษาฟางข้าว เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ 4 จังหวัด (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์)

 

จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์จากในพื้นที่ 196 ราย พบว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่จะจ้างรถอัดฟางข้าวของกลุ่มแปลงใหญ่มาอัดฟางก้อนเก็บไว้เพื่อทำปุ๋ย เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ และวัสดุคลุมดิน ร้อยละ 33.63, ไถกลบฟางข้าวในนาเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย ร้อยละ 29.22, จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนเองให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช และเพาะเห็ด ร้อยละ 26.32, จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนให้กับกลุ่มแปลงใหญ่/วิสาหกิจชุมชนที่ตนเป็นสมาชิก ร้อยละ 7.90, จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนให้กับผู้รวบรวมเอกชน ร้อยละ 1.96 และนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น ทำปุ๋ย เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ และวัสดุคลุมดิน ร้อยละ 0.97

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวม แบ่งเป็น กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว/วิสาหกิจชุมชน เป็นผู้รับซื้อฟางข้าวจากเกษตรในพื้นที่และให้บริการอัดฟางก้อนในนาให้แก่เกษตรกรสมาชิก มีค่าใช้จ่ายก้อนละ 13-14 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) และเมื่อกลุ่มแปลงใหญ่อัดฟางก้อนเสร็จเรียบร้อยจะจำหน่ายให้กับผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวทันที (จำหน่ายที่นา)

ส่วนผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชนจะรับซื้อฟางข้าวอัดก้อนจากเกษตรกรหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าว ราคารับซื้อขึ้นอยู่กับฤดูกาลเก็บเกี่ยว สภาพความชื้นของฟางข้าว พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก โดยผู้รวบรวมเอกชนจะจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนต่อให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เพาะเห็ด บุคคลทั่วไป โรงแรม และรีสอร์ตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อนำฟางข้าวใช้แทนหญ้าเนเปียร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 10.21 บาท/ตัว/วัน, เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำฟางข้าวใช้แทนอาหารหยาบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 43.60 บาท/ตัว/วัน, เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา นำฟางข้าวใช้แทนอาหารปลาสำเร็จรูป ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 3,025 บาท/ปี, เกษตรกรผู้ปลูกพืช นำฟางข้าวไปเป็นวัสดุคลุมดิน แทนการใช้ผ้าสแลงกรองแสง ลดค่าใช้จ่ายได้ 750 บาท/ปี และเกษตรกรผู้เพาะเห็ด นำฟางข้าวอัดไปเป็นวัสดุคลุมดินแทนการใช้ต้นกล้วยแห้ง ลดค่าใช้จ่ายได้ 1,800 บาท/ไร่/รอบการผลิต หรือแทนการใช้กากมันสำปะหลัง ลดค่าใช้จ่ายได้ 6,600 บาท/ไร่/รอบการผลิต

“รัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลาย ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าฟางข้าว และการรับรองแหล่งที่มาเพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์เกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและการต่อรองราคา รวมถึงการรักษามาตรฐานสินค้าฟางข้าว เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำและบอกต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนและผลักดันไปสู่ช่องทางในการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในการซื้อขายฟางข้าว สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการบริหารจัดการฟางข้าว ตั้งแต่การวางแผน กระบวนการผลิต และการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป/ ผู้รวบรวม และผู้ใช้ประโยชน์ ควรทำประกันภัยขนส่งสินค้าฟางข้าว เพื่อป้องกันความเสียหายในระหว่างการขนส่ง” ผอ.สศท.5 กล่าว.

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2763257