Search
Close this search box.

รวมพลังเกษตรไทย – กัมพูชา ใช้ IPM จัดการศัตรูพืช

share to:

Facebook
Twitter

นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการเข้าพบและประชุมร่วมกับ Mr. Chea Sokhon รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ป่าไม้ และประมง แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมคณะนักวิชาการเกษตรด้านอารักขาพืช ทั้ง 2 ประเทศ ว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาได้แบ่งการจัดการพื้นที่เกษตร ออกเป็น 4 โซน คือ พื้นที่โซนเหนือแม่น้ำโขง เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา มะม่วงหิมพานต์ อะโวคาโด พื้นที่โตนเลสาบ เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ข้าว และปลาน้ำจืด พื้นที่ชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ทุเรียน มะม่วง พริกไทย และการทำประมง และพื้นที่โซนใต้แม่น้ำโขง เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ข้าว ผัก โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร ป่าไม้ และประมง หรือ DEAFF (Department of extension for agriculture, forestry and fisheries) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ซึ่งภารกิจคล้ายคลึงกับกรมส่งเสริมการเกษตร ของประเทศไทย โดยทาง DEAFF ได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นอย่างมาก จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ DEAFF เข้าร่วมการอบรมทางวิชาการและฝึกปฏิบัติในโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม (Regional Participatory Implementation of Integrated Pest Management System) ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperative Special Fund) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้เดินทางกลับประเทศแล้วได้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากส่วนกลางลงสู่ส่วนภูมิภาค ผ่านนักส่งเสริมการเกษตร ส่งตรงถึงเกษตรกรในระดับพื้นที่ รวมทั้งวางแผนนำกล้องจุลทรรศน์พร้อมชุดถ่ายภาพ ที่ประเทศไทยเป็นผู้จัดหาภายใต้โครงการฯ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการตรวจสอบ วินิจฉัยโรค และแมลงศัตรูพืช ไปสาธิตการใช้งานให้กับผู้เข้ารับการอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตร Ta Saang (Ta Saang Agricultural Extension and Training Center: AETC) เมืองสวายเรียง

นอกจากนี้คณะของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่ติดตามงานจุดที่มีการนำองค์ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ไปปรับใช้ ณ แปลงเกษตรกร เมืองสวายเรียง (Svay Rieng) จำนวน 2 จุด จุดแรก คือ Vegetable Agricultural Cooperative at Svay Village แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผลิต และส่วนการตลาด โดย Mr. Luck Buntheun เกษตรกรต้นแบบ หัวหน้าทีมส่วนผลิต และประธานของกลุ่มได้ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมเกษตรกรในชุมชนทำการเกษตรด้วยวิถีเดิม แต่ด้วยความเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า และต้องการผลักดันการทำการเกษตร ประกอบกับทางรัฐบาลกัมพูชาได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ และได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมจัดทำแผนงานเพื่อส่งเข้าประกวดจนได้เป็นเกษตรกร Champion และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น รถไถเดินตาม โรงเรือนเพาะปลูก และองค์ความรู้ด้านวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศนิวซีแลนด์ เช่น การผลิตตามมาตรฐาน GAP การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM)

แหล่งที่มา/อ่านต่อได้ที่: https://doaenews.doae.go.th/archives/23436