วันนี้ 12 มีนาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อเนื่องจากการเดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีและคณะระหว่างวันที่ 8 – 12 มีนาคม 2567 นั้น นอกเหนือจากการเจรจาเรื่องเศรษฐกิจและการส่งเสริม Soft Power ของไทยแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนยังไม่ค่อยพูดถึง คือแผนการจับมือกันแบบทวิภาคีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการร่วมมือปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและคุ้มครองชนิดพันธุ์ ระหว่าง ไทย-ฝรั่งเศส โดยรายละเอียดของร่างหนังสือเจตจำนงฯ ที่ผ่านความเห็นชองของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยมีสาระสำคัญของร่างฯ ดังนี้
ความเป็นมาคือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพัฒนาหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ภายใต้ความร่วมมือแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 – 2024) ซึ่งแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสในระยะเวลา 3 ปี ประกอบด้วยความร่วมมือใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง (เช่น การต่อต้านภัยคุกคามไซเบอร์ การก่อการร้าย เป็นต้น) (2) การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน [เช่น การส่งเสริมการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)] (3) การเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน (มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น) และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระดับโลก (มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น)
ซึ่งร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและบูรณาการเชิงนโยบายระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสนับสนุนให้เกิดโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมโดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะดำเนินงานร่วมกันใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (2) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้ หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้จะไม่สร้างพันธกรณีหรือข้อผูกพันที่มีผลทางกฎหมายใด ๆ ให้แก่ประเทศผู้ลงนามทั้งสองฝ่าย ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
“การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงฯ จะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น กรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออลฯ ความตกลงปารีสและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและมาตรการการอนุรักษ์เชิงพื้นที่อื่น ๆ ทั้งทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ทางบกและทางทะเล ภายในปี 2573” รองโฆษกรัดเกล้าฯ กล่าว
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/6/cid/39/iid/268393