เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จัดพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและเปิดศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง และภาคีความร่วมมือ ภายใต้โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ในดงบอน หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับและเปิดกิจกรรม ต่อมาเป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธุ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม โครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนจังหวัดพัทลุง
โดย มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุงที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยกับภาคีที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง (ศจพ.จ.พัทลุง) ซึ่งโครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืนจังหวัดพัทลุง ปีที่ 3 (ปี 2566) โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยครั้งนี้กับ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน
โครงการดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ในปี 2564- ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความสำเร็จ คือ คนจน ในจังหวัดพัทลุง มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประชากรกลุ่มยากจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนและสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม สำหรับผลการดำเนินงานพบว่า การค้นหาและสอบทานคนจนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมจำนวน 13,902 ครัวเรือน โดยใช้รายชื่อคนจนตั้งต้นจากฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Mapand Analytics Platform: TPMAP) ในปี 2565
สำหรับการพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model) ระดับพื้นที่ตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework; SLF) การเลือกพื้นที่ของปฏิบัติการแก้จนในปีที่ 3 จำนวน 8 โมเดล ได้แก่ 1) กระจูดพัทลุงโมเดล” การยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์กระจูดตลอดโช่อุปทานของวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟขับเคลื่อนโดย BCG , 2) การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจชุมชนเกื้อกูลตามภูมินิเวศเขา-นา จังหวัดพัทลุง และ , 3) การเลี้ยงแพะหวะแก้จน จังหวัดพัทลุงโมเดล ในส่วนโมเดลแก้จนรอง คือ ,4) วิชชายุทธเกษตรสู้จน คนศรีนครินทร์ , 5) บางแก้วโมเดล: ประมงพื้นบ้านแก้จน , 6) แพลนต์เบสฟู้ดปันสุข กงหรา , 7) ท่องเที่ยวชุมชนแก้จน ยลวิถีเมืองลุง , 8) โมเดลจ้างงานแก้จนคนป่ายอม : การพัฒนาแอปพลิเคชันและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับทักษะและการจ้างงานแรงงานคนจนในจังหวัดพัทลุง
เป้าหมายและตัวชี้วัดของโครงการที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่และเชื่อมโยง กับแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของกระทรวง อว. 3 ส่วนหลัก คือ 1) ระบบการค้นหาและสอบทานข้อมูล 2) ระบบส่งต่อความช่วยเหลือ และ 3) โมเดลแก้จน โดยเน้นการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนและครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่
จากนั้น วิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาความยากจนและบริบทของพื้นที่ของคนจน ส่งต่อไปสู่ความช่วยเหลือ ของระบบภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง และการลงทุนแก้ไขปัญหาความยากจนระดับ ครัวเรือนหรือพื้นที่ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำให้เกิดทักษะการจัดการชีวิต การผสมผสานและ บูรณาการการแก้ไขความยากจนด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการนำโมเดลแก้จน ( Pilot project) ของมหาวิทยาลัยทักษิณที่ได้มีการออกแบบพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยการนำความรู้งานวิจัยผสานกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมายภายใต้หน่วย ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม และสร้างเครือข่ายนวัตกรรมของสังคมทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย สร้างนวัตกรด้านสังคม โดยการบ่มเพาะเพื่อมุ่งเสริมสมรรถนะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและ แม่นยำในจังหวัดพัทลุง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นการลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเชิงพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพัทลุงของภาคีเครือข่าย
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เสวนา “บทเรียนและประสบการณ์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุง” โดย…นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง นายแก้ว สังข์ชู ภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิริยะ แต้มแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุง พร้อมทั้งแนะนำทีมนักวิจัย 8 โมเดลแก้จนจังหวัดพัทลุง
ต่อจากนั้น มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือและการขับเคลื่อนโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดย…ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
จากนั้น ดร.กิตติ สัจจาวัฒนาได้มอบป้ายศูนย์วิจัยฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายการดำเนินงานในระดับพื้นที่ให้แก่หัวหน้าศูนย์วิจัยประกอบด้วย ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร มหาวิทยาลัยทักษิณ, นายเนติกรณ์ ชูเจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านนา, นางชลฑิชา หมื่นหนู นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลทะเลน้อย, นายวรินทร ทองขาว นายอำเภอปากพะยูน, นายโยฮัน เบ็ญฮาวัน นายอำเภอป่าพะยอม เพื่อเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพัทลุง
โดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเมืองพัทลุงสู่การขจัดปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ณ ในดงบอน อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
ที่มาข้อมูล/ภาพ : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230510151506399