เมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานพ โปษยาอนุวัตร์ เกษตรอำเภอวังจันทร์ จ.ระยอง และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตร(ทุเรียนและไม้ผล) ของเกษตรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ตามโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับเกษตรกร โดยนำหลักเกษตรสมัยใหม่มาบริหารจัดการร่วมกับการเชื่อมโยงตลาดในยุคปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเกษตรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการและประสบความสำเร็จคือ นายจรูญ โพธิ์ทอง ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่น ม.5 ต.วังจันทร์ อ.วังจันทร์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2562 จนสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ
นายมานพ โปษยาอนุวัตร์ เกษตรอำเภอวังจันทร์ กล่าวว่า ใน อ.วังจันทร์ มีพื้นที่ทำสวนผลไม้ สำนักงานเกษตร อ.วังจันทร์ มีการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีเกษตรแปลงใหญ่อยู่ในพื้นที่ จำนวน 9 แปลง เป็นแปลงใหญ่ทุเรียน 4 แปลง และแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่นเป็น 1 ใน 4 แปลง ที่มีการผลิตทุเรียนคุณภาพ จุดแข็งของกลุ่มคือการบริหารจัดการกลุ่มที่มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง มีการประชุมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และมีการออมเงิน เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตหรือใช้จ่ายซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งกลุ่มมีความเข้มแข็งจนเข้าสู่ระบบสินเชื่อชุมชนสร้างไทย จนได้รับสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ในส่วนการแข่งขันด้านการตลาดของทุเรียนที่มีการแข่งขันสูง ประเทศปลายทางต้องการทุเรียนที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ ซึ่งทางสำนักงานเกษตรอำเภอวังจันทร์ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรทุกรายได้ขอใบรับรอง GAP โดยมีกรมส่งเสริมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาตรวจแปลงและได้ให้ใบรับรอง GAP กับเกษตรกร และแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่นก็เช่นกัน ซึ่งสมาชิกทุกรายจะต้องมีใบรับรอง GAP เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานทุเรียน เพื่อเข้าสู่การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้มีการขยายการปลูกทุเรียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางสำนักงานเกษตรอำเภอวังจันทร์ ยังได้มีการประสานงานทาง EECi สวทช. เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของถุงแดงห่อทุเรียน หรือ Magik Growth เป็นถุงไว้สำหรับห่อทุเรียนให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ทั้งลักษณะภายในและนอก และได้มีการประสานงานกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา มาให้ความรู้เรื่องพยากรณ์อากาศ โดยใช้แอปพลิเคชัน Windy สามารถวางแผนการผลิต การให้ปุ๋ยและให้ธาตุอาหารสำหรับทุเรียนได้อย่างแม่นยำไม่ให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะช่วงมีฝนตก หรือลมแรง เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งในเรื่องของเทคโนโลยีการพ่นยา มีการปรับจากใช้เครื่องพ่นสายยางมาเป็นรูปแบบแอร์บลาส และการตัดหญ้าในสวน โดยใช้รถนั่งขับทำให้สะดวกสบายมีความรวดเร็ว และลดการขาดแคลนแรงงานที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่นดังกล่าว ปัจจุบันเป็นแปลงใหญ่นำร่อง BCG โมเดลทุเรียนของจังหวัดระยอง โดยมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในสวนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่นยืนด้วย
ด้านนายจรูญ โพธิ์ทอง ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่น กล่าวว่า เกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านเขาหินแท่น เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกที่เป็นเกษตรกรทำสวนทุเรียนแปลงเล็ก แปลงใหญ่ใน ต.วังจันทร์ จำนวน 73 ราย ที่มารวมตัวกันก็เพื่อต้องการลดปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเป็นการเพิ่มผลผลิตทุเรียนด้วย ซึ่งในส่วนของการลดต้นทุนการผลิตนั้น ทางกลุ่มได้มีการรวมตัวการซื้อปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย ยา สามารถซื้อในราคาต้นทุนได้ ราคาจะถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ส่วนการเพิ่มผลผลิตทุเรียนได้มีการใช้นวัตกรรมถุงแดงห่อทุเรียน หรือ Magik Growth มาช่วยในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต หลังจากห่อทุเรียน 60 วันแล้ว ไม่ต้องพ่นและใช้ยา โดยผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถส่งออกได้ และมีการใช้แอพพลิเคชั่น Windy พยากรณ์อากาศ เข้ามาช่วย สามารถคาดการณ์สภาพดิน ฟ้า อากาศได้ เช่น ฝนจะตกวันไหน จะพ่นยาได้หรือไม่ ทำให้ไม่ต้องสูญเสียปุ๋ย ยาโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนอุปกรณ์เครื่องพ่นยาได้ปรับมาใช้ระบบแอร์บลาสที่มีความทันสมัยประหยัดแรงงานที่หายาก และทันกับเหตุการณ์ ซึ่งแปลงใหญ่ของทางกลุ่มได้มาตรฐาน GAP ครบ 100 เปอร์เซ็น ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเพื่อการส่งออก เนื่องจากในการส่งออกทุกครั้งต้องใช้ใบรับรอง GAP ซึ่งมีความสำคัญมากในกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของบ้านเขาหินแท่น ส่วนการขายในประเทศนั้น สามารถการันตีได้ว่ามีมาตรฐาน GAP และปัจจุบันช่องทางการขาย 80 เปอร์เซ็น เพื่อการส่งออก อีก 20 เปอร์เซ็นขายในประเทศ และมีช่องการขายออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ลูกค้าสั่งออนไลน์มากขึ้น ทางกลุ่มจะส่งสมาชิกไปอบรมการขายออนไลน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีเกษตรกรสมาชิกทางกลุ่มได้เรียนรู้ และมียอดขายเพิ่มขึ้น ในส่วนการบริหารจัดการกลุ่มมีการประชุมสมาชิกทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยงเข้ามาให้ความรู้ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และ EECi ที่สนับสนุนองค์ความรู้นวัตกรรมเรื่องถุงแดงห่อผลทุเรียนให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ โดยสิ่งที่ได้คือมีการลดต้นทุน-ลดปัจจัยการผลิต ลดปุ๋ย และยาลง ผลทุเรียนมีผิวสวย เปลือกบาง เนื้อทุเรียนหนา สำหรับความยั่งยืนของกลุ่ม มีคณะกรรมการ และสมาชิกที่เข้มแข็ง และในการพัฒนาได้มีการนำ BCG โมเดลมาใช้ด้วย โดยจะช่วยในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย ถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มาข้อมูล/ภาพ : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230501111852054