การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate Change สร้างความเสียหายโดยตรงต่อภาคเกษตรไทยที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักให้มีผลผลิตลดลง โดย Climate Change ของโลกมีความแปรปรวนชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เมื่อเทียบกับก่อนปี 2016
สะท้อนผ่านการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาที่ยาวนานขึ้นต่อรอบ เช่น ระยะเวลาการเกิดเอลนีโญตั้งแต่ปี 2016 กินเวลายาวนานขึ้นอยู่ที่ 10-19 เดือนต่อรอบ จากเพียง 5-9 เดือนต่อรอบในช่วงก่อนปี 2016 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็ปรับสูงขึ้นด้วยเป็น 1 องศาเซลเซียส จาก 0.7 องศาเซลเซียส
ผลจาก Climate Change ที่รุนแรงขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบและกดดันต่อภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในปี 2016-2023 มาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108 จากเฉลี่ยที่ระดับ 117 ในปี 2008-2015
และหากพิจารณาในรายพืชเกษตรสำคัญอย่างข้าว ที่จะนำมาวิเคราะห์เป็นหลัก เนื่องจากข้าวมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 44% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ จึงพบว่า ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อปีก็ลดลงด้วย จาก 34.6 ล้านตัน เป็น 31.5 ล้านตัน
แหล่งที่มาภาพและข้อมูล/อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1128067