Search
Close this search box.

พาณิชย์เผยทั่วโลกตื่นตัวผลิตภัณฑ์อาหารยั่งยืน แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว

share to:

Facebook
Twitter

สนค. เผยแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภาครัฐควรส่งเสริมด้านงานวิจัย และช่วยพัฒนาเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 –นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้บริโภคให้ความสนใจข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น ซึ่งการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 31 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ทั้งหมด ทำให้ฉลากอาหารถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการปรับปรุงความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร และเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลว่าผู้ผลิตและเกษตรกรมีการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบันมีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์การแสดงฉลากที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่หลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละสินค้าและกลุ่มประเทศ จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารของ FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission) ระบุว่า ฉลากที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่ได้รับแจ้งจากสมาชิก Codex (มี 189 สมาชิก ประกอบด้วย 188 ประเทศ และสหภาพยุโรป) มีจำนวน 208 ฉลาก โดยสามารถแบ่งฉลากอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

(1) ฉลากที่ออกโดยรัฐบาลหรือฉลากสาธารณะ มีจำนวน 24 ฉลากเช่น Indonesian Ecolabel logo และ AsureQuality Organic mark
(2) ฉลากของภาคเอกชน มีจำนวน 173 ฉลากเช่น Carbon Trust และ Red Tractor
(3) ฉลากร่วมของภาครัฐและเอกชน มีจำนวน 4 ฉลาก เช่น Enviroscore และ Alaska Responsible Fisheries Management และ
(4) ฉลากอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก มีจำนวน 7 ฉลาก เช่น Sustain 2007

ทั้งนี้ หากแบ่งตามวัตถุประสงค์ จะเป็นฉลากที่มีวัตถุประสงค์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental & Social) รวมกันมากที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 44 จากจำนวนฉลากทั้งหมด รองลงมา คือ ฉลากที่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Only) และฉลากที่มีวัตถุประสงค์ด้านสังคม (Social Only) มีสัดส่วนร้อยละ 32 และ 24 ตามลำดับ

 

 

สหภาพยุโรป (EU) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินนโยบายการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร มียุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) โดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอกรอบโครงสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน (Framework for Sustainable Food Systems: FSFS) คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยข้อเสนอดังกล่าว หมายรวมถึงระบบการติดฉลากอาหารที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกอาหารจากไทยไป EU ในอนาคตได้

สำหรับข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากไทยไปยังสหภาพยุโรป ในปี 2565 ไทยส่งออก มูลค่า 104,487.30 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไป EU อาทิ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.thaipost.net/economy-news/446848/

VTR สินค้าฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อทรัพยากรที่ยั่งยืน