วว. วิจัยพบสารสกัด “ใบเตย” แก้ปัญหาโรคเก๊าต์ ลดกรดยูริก ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมระดับโลก

share to:

Facebook
Twitter

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ดำเนิน “โครงการพัฒนาสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่สำหรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ฟังก์ชัน เพื่อเสริมสุขภาพในระบบกระดูกและข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย” ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบสารสกัดใบเตยจากการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม” ที่มีประสิทธิภาพในระดับห้องปฏิบัติการต่อภาวะโรคเก๊าต์

จากผลการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบเตยหอมต่อการลดกรดยูริกในเลือดพบว่า เมื่อหนูทดลองได้รับสารสกัดจากใบเตยหอมที่ปริมาณ 500, 1000 และ 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวหนู เป็นระยะเวลานาน 14 วัน มีระดับกรดยูริกลดลง การขับทิ้งทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และมีไขมันในตับลดลง มีความปลอดภัยทั้งการทดสอบแบบเฉียบพลัน (acute toxicity) และแบบกึ่งเรื้อรัง (sub-chronic toxicity) พบว่า มีค่า LD50 มากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวสัตว์ และมีเกณฑ์จําแนกความปลอดภัยตามระบบการจัดกลุ่มสารเคมี และการติดฉลากของวัสดุทดสอบตามหลักเกณฑ์ของ GHS ที่ระดับ 5 (Category 5) หรือ Unclassified ผ่านการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบผงใบเตยเริ่มต้นที่ 30 กิโลกรัม ได้ร้อยละผลผลิตเท่ากับ 8.73 หรือ 2.62 กิโลกรัม มีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) อยู่ในช่วง 2.79-7.49 mg/kg โดยผ่านมาตรฐานการผลิตอาหารทั้งด้านจุลินทรีย์และโลหะหนัก งานวิจัยดังกล่าวตอบโจทย์ประเทศ ในขอบข่ายอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านเกษตรและอาหาร รวมทั้งสุขภาพและการแพทย์ โดย วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการต่อไป

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ : https://www.facebook.com/photo?fbid=1258200476310137&set=a.542806074516251