นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง ลงพื้นที่ติดตามกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ณ ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อใหเคำแนะนำในการก่อสร้างเตาเผาถ่านไบโอชาร์ แบบแนวนอน ซึ่งจะเป็นเตาเผาถ่านอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งทางกลุ่มอารักขาพืชได้สนับสนุนวัสดุทางการเกษตรสำหรับนำไปประกอบเป็นเตาเผาถ่าน เป็นการตอบสนองต่อนโยบาย BCG ของรัฐบาล หน่วยงานและจังหวัด
ถ่านชีวภาพหรือถ่านไบโอชาร์มีคุณสมบัติที่เหมาะกับปรับปรุงดินหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ รูพรุนที่ผิวถ่าน ซึ่งทำให้ถ่านชีวภาพสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหาร รวมทั้งเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ โดยก่อนที่จะนำถ่านชีวภาพไปใช้ปรับปรุงดิน ควรเติม (ชาร์ทถ่าน) จุลินทรีย์และธาตุอาหารก่อน ที่จริงแล้ว ถ่านทุกชนิดมีรูพรุนมากกว่าวัสดุตั้งต้น ซึ่งขนาดและปริมาณของความพรุนในถ่านนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาเผาเป็นถ่านและกรรมวิธีการเผา
คุณสมบัติรองลงมาก็คือ ถ่านมีสภาพที่เป็นด่างเล็กน้อย จึงช่วยลดสภาพความเป็นกรดของดินลงได้บางส่วน นอกจากนี้ ถ่านชีวภาพมีธาตุไนโตรเจน (ที่เป็นประโยชน์กับพืช) รวมทั้งน่าจะมีค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (ทำให้เก็บกักธาตุอาหารได้มาก) โดยทั่วไป จะใช้ถ่านชีวภาพเฉพาะบริเวณใกล้ๆ กับรากฝอยของพืช โดยมักจะผสมกับปุ๋ยหมักฮิวมัสหรือปุ๋ยคอกก่อน 1 – 2 วัน (ชาร์ทถ่าน) ในอัตราตั้งแต่ 1:1 – 1:4 (ถ่านชีวภาพ:ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก) แล้วจึงนำไปใส่รองก้นหลุมปลูก (พืชล้มลุก) หรือใส่โคนต้น (ไม้ยืนต้น) หรือใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะเมล็ด/เพาะกล้า ในกรณีของการปลูกผัก แนะนำให้ใช้ในอัตรา 1 – 4 ลิตร/ตารางเมตร
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230928111106161