สำนักงานอุตสาหกรรมยะลา จับมือ ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเศษไม้ยาง อัตลักษณ์ในพื้นที่ สร้างมูลค่า พร้อมผลักดัน วิสาหกิจชุมชน

share to:

Facebook
Twitter

สำนักงานอุตสาหกรรมยะลา จับมือ ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากเศษไม้ยาง อัตลักษณ์ในพื้นที่ สร้างมูลค่า พร้อมผลักดัน วิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อน ตามแนวคิด BCG Model สร้างรายได้ยั่งยืนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 ที่ ห้องประชุมคิงเชียง อาคาร 24 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการรวมกลุ่ม (Cluster) และออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว จัดขึ้นโดย สำนักงานอุตสาหกรรมยะลา จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อการรวมกลุ่ม (Cluster) และออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก

สำหรับนักท่องเที่ยวจากเศษวัสดุไม้ยางพาราภายใต้แนวคิดใช้ หัว และ ใจปั้นอุตสาหกรรมเพื่อชุมชน โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวจากเศษไม้ยางพาราสะท้อน อัตลักษณ์จังหวัดยะลา ประจำปีงบประมาณ ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2566 โดยมี นายสมบัติ สุวรรณมณี อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ส่วนราชการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วม พร้อมทั้งเยี่ยมชมการออกบูธนิทรรศการ วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวพื้นเมืองปลอดสารพิษตำบลบุดี , มัดย้อมเมืองเก่ายะลา , กลุ่มเครื่องหนังสันกาลาคีรี , วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำพริกสาวน้อยบ้านดูซง , วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านเจ๊าะตีเมาะ และร่วมถ่ายภาพอย่างพร้อมเพรียง

นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากการให้ความสำคัญกับมิติการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยว ซึ่งในจังหวัดยะลา จุดเด่นในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม คือไม้ยางพารา ที่นำมาแปรรูป ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่เหลือใช้ในภาคการผลิต คือเศษไม้ยางพารา จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการผลิตเป็นของที่ระลึก ในหลากหลายผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ การจัดโครงการในครั้งนี้ ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ รังสรรค์แนวทางการสร้างสรรค์ วิเคราะห์อัตลักษณ์เด่น การออกแบบด้วยแนวคิด ( Idea Stage ) เพื่อสร้างการรับรู้ และส่งเสริมให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในพื้นที่จังหวัดยะลา มีความรู้ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ด้วยแนวคิด BCG Model ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในระดับสากล โดยการใช้หัวและใจปั่นอุตสาหกรรมเพื่อชุมชน สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดหวัดยะลา

ซึ่งเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทั้งธรรมชาติ พหุวัฒนธรรม จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างรายได้ประชาชน สร้างความยั่งยืนในพื้นที่ การทำงานมีการบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ ดูแลในด้านการตลาด และภาคีเครือข่ายต่างๆเข้ามาร่วม ซึ่งความสำเร็จ ก็จะเกิดจากการที่ประชาชน ชุมชน โรงงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมมือกันอย่างจริง เพื่อสังคมที่ดี วิถีชีวิตที่ดีของชาวจังหวัดยะลา

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230301122023112