อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ลุยขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน ตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Villages) ยกผลลัพธ์ให้เป็นรูปธรรม ทุกมิติ พร้อมเน้นย้ำการทำงานสมัยใหม่ ต้องเน้นการสื่อสาร เพื่อขยายภาคีเครือข่าย
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานกองวิชาการ กรมการปกครอง ในประเด็นความก้าวหน้า และแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ ตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Villages) พร้อมนำทีมลงดูพื้นที่จริง รับฟังทีมภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ณ หมู่บ้านเป้าหมาย ในตำบลบางแตน พร้อมโชว์ผลงานการแก้ไขปัญหา และพัฒนาหมู่บ้านในแต่ละมิติให้เห็นเป็นรูปธรรม เน้นชูขยายผลจากหมู่บ้านเป้าหมายนำร่อง (Model) ไปจนครบถ้วนทั้งตำบล ในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง สืบเนื่องจากที่อำเภอบ้านสร้าง ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ระดับประเทศ จากการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการบ้านสร้าง ร่วมใจ รักษ์น้ำฯ ที่นายอำเภอบ้านสร้าง นำทัพพาทีมอำเภอทุกภาคีเครือข่าย อาทิ ภาคเอกชน โดยบริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด, ภาควิชาการ โดย องค์กร WWF เป็นต้น ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำชุมชน และรองรับภัยพิบัติ ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพ การรักษาระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม อย่างครบทุกมิติ ตามเป้าหมาย SDGs, แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG และที่สำคัญคือการน้อมนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
ในโอกาสนี้ ที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Villages) นายอำเภอบ้านสร้าง จึงได้นำความสำเร็จจากโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ฯ มาประยุกต์ต่อยอด ให้หมู่บ้านเป้าหมายร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน พร้อมมอบหมายให้ปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นแกนหลักในการประสานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยมีนายอำเภอบ้านสร้างเป็นแม่ทัพหลัก เร่งสร้างหมู่บ้านเป้าหมาย ด้วยการลุยแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละมิติ ตามตัวชี้วัด เพื่อทำเป็นต้นแบบขยายผลสู่หมู่บ้านอื่นๆต่อไป โดยในวันนี้ นายอำเภอบ้านสร้าง ได้นำทีมงานกองวิชาการ และภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ลงพื้นที่ ม.10 ต.บางแตน หมู่บ้านเป้าหมายที่ได้ดำเนินการตามแผนงานที่วางเอาไว้ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะด้านมิติรายได้ ความเป็นอยู่ ที่ได้มีการดึงภาคเอกชน และภาควิชาการ มาร่วมกันสร้างเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำชุมชน ให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเกษตร ทุกฤดูกาล การรวมกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริม หรือการบริหารจัดการขยะชุมชน เปลี่ยนจากขยะเป็นรายได้ ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความรู้รักสามัคคีภายในชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงาน และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะการปลูกพืชผักสวนครัว การบริหารจัดการพื้นที่ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เหลือก็แบ่งปัน ก่อนออกนำจำหน่ายสร้างรายได้สู่ครัวเรือน
ในช่วงท้าย นายอำเภอบ้านสร้างได้กล่าวว่า ในการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ในยุคโลกาภิวัตน์ การสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเครือข่ายคือแหล่งสำคัญในการระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อนำมาช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และทีสำคัญคือ คือ ต้องสื่อสารให้ทันสมัย เน้นตรงประเด็น สอดคล้องกับกระแส และความต้องการในโลกยุค Social ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการขยายสร้างแนวร่วม เพิ่มพลังให้กับทีมภาคีเครือข่ายในการทำงานนั่นเอง
ที่มาภาพ/ข้อมูล :
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230518160441602