ในยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานสูงและปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2564 และหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การท่องเที่ยวจึงควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นคือ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Tourism) ซึ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เที่ยวแบบไหนบรรลุเป้า SDGs
ดร.พัฒน์ธีรา พันธราธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะจากการขนส่ง โรงแรม และกิจกรรมต่าง ๆ ในจุดหมายปลายทาง
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำจึงกลายเป็นแนวทางสำคัญในการลดผลกระทบเหล่านี้ และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) การใช้พลังงานทดแทน ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และการเดินทางในระยะใกล้ ล้วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหมู่นักท่องเที่ยว รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี พ.ศ. 2573
และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2555-2593) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (BCG Model) รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2% ต่อปี และเพิ่มมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล (GSTC) 30% ภายในปี 2570
ที่มาข้อมูล/อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1736061