Search
Close this search box.

นายกฯ หนุน BCG ผนึกทุกภาคส่วน รวมไทยสร้างชาติ เอกชนจับมือรัฐลงขันเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนประเทศไทย

share to:

Facebook
Twitter

(15 กรกฎาคม 2563) ณ อิมแพ็คฟอรั่ม ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการประชุมสมัชชา “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านจากการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป็นการร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนา รวมถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ปรับแก้กฎหมาย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างตลาด มาตรการทางการเงิน การเร่งรัดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี การกระจายความรู้ และเทคโนโลยีไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดันเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 18 หน่วยงาน หนุนการลงทุนให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 50,000 คน โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และแสดงปาฐกถาเรื่อง “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผู้บริหารหน่วยงาน เข้าร่วมงาน

  

ตามที่รัฐบาลประกาศนโยบายที่จะเร่งรัดพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศโดยตั้งเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลา 5 ปี ประกอบด้วย 1) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง BCG มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 3.4 ล้านล้านบาท (ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19) ซึ่งหากมีนโยบายและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ประมาณการว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท 2) การสร้างงาน ปัจจุบันเศรษฐกิจ BCG สร้างการจ้างงานทั้งระบบ 16.5 ล้านคน และผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการจ้างงานได้กว่า 20 ล้านคน 3) การสร้างการเติบโตเชิงคุณภาพของโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดในคน สัตว์และพืช ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้วางรากฐานและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ภายใต้แนวคิด “อว. สร้างคน สร้างงาน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ” ได้แก่ “โครงการ อว. จ้างงาน” ซึ่งระยะที่หนึ่ง ได้จ้างงานแล้ว 10,000 อัตรา ระยะที่สองจ้างงานเพิ่มอีก 32,000 อัตรา สำหรับปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของ อว. ทั้งหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเตรียมเพิ่มการจ้างงานบัณฑิต นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 3 แสนคน เข้าร่วม “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการ 1 ตำบล 1มหาวิทยาลัย” มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) โดยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ในระดับตำบลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมโดยเฉพาะด้าน Area base BCG economy ลงไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น Smart Farmer การพัฒนาพืชสมุนไพร การพัฒนาสินค้าและบริการ การพัฒนาการตลาดและสิ่งอํานวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน

  

ซึ่งเป็นการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG ลงสู่พื้นที่ให้เกิดการปฏิบัติจริง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยจากเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การจัดประชุมสมัชชา BCG นี้ ได้รับการตอบรับเป็นจำนวนมากจากภาคเอกชน ผู้นำชุมชน นักวิชาการ/นักวิจัย และผู้แทนจากภาครัฐ โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,300 คน ทั้งจากที่ประชุมและผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ภาคเช้าประกอบด้วยพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

  

โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน ร่วมลงนามรวม 18 หน่วยงาน มีมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนในระยะแรก 10,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 50,000 คน และการปาฐกถาพิเศษ “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอมุมมองต่อการนำ BCG Economy โมเดลมาเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินต่อไปได้ด้วยการอาศัยจุดแข็งของประเทศ พร้อมกับการดำเนินการวิถีใหม่ ด้วยการ Reinventing ประเทศไทย ในด้านต่าง ๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างน้อยใน 5 เรื่อง คือ 1. Hygienic Kitchen of the World เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และความสะอาด เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหาร โภชนาการระดับประเทศและโลกในทุกสถานการณ์ 2. High Value-Added Products from Innovation and Creativity สร้างความมั่งคั่งจากการเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตและบริการด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 3. Healthy People สร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพและการแพทย์ 4. Happy Destination การท่องเที่ยวที่เน้นความปลอดภัย รูปแบบใหม่ ยั่งยืน กระจายรายได้สู่ชุมชน 5. Harmonious and Sustainable Society การพัฒนาที่สมดุลและการประยุกต์ใช้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน

  

สำหรับในภาคบ่ายจะเป็นการระดมความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมโดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตร 2) กลุ่มอาหาร 3) กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 4) กลุ่มยาและวัคซีน 5) กลุ่มเครื่องมือแพทย์ 6) กลุ่มท่องเที่ยว 7) กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน 8) กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงตัวอย่างผลงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จำนวน 38 บูท อีกด้วย ซึ่ง BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่จะนำไปสู่การสร้างงานและโอกาสใหม่ของประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน รวมไทยสร้างชาติ