APEC 2022 THAILAND โอกาสคนไทย ส่งสินค้าไทย สู่สากลโลก

share to:

Facebook
Twitter

ผลสำเร็จจากการที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 นอกจากผลประโยชน์ทางตรงด้านการค้าการลงทุนที่ไทยได้โอกาสเพิ่มขึ้นแล้ว ในด้านทางอ้อมไทยยังได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะ Soft Power ที่ผู้นําหลายเขตเศรษฐกิจหรือแม้แต่ผู้แทน และคณะทํางาน ได้เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่อาหารการกิน วัฒนธรรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ สะท้อนจากรูปแบบการจัดงานที่แสดงความเป็นไทย ทําให้ทั่วโลกที่สนใจการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสินค้าวัฒนธรรมมากขึ้น

ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบชะลอมไม้ไผ่อันเป็นสัญลักษณ์ไม้ต่อ ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยชะลอมสานไม้ไผ่นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงภูมิปัญญาไทย ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร จึงทำให้ชะลอมสะท้อนการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกันไว้

อีกทั้ง ของขวัญและของที่ระลึก ทั้ง 7 รายการ ล้วนนำเสนออัตลักษณ์ไทย ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณค่า ส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ อาทิ ภาพดุนโลหะ “รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ) มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากว่า 700 ปีบนแผ่นโลหะรีไซเคิล พื้นหลังแสดงลายนูนต่ำ ลวดลาย ‘ชะลอม’ ที่พัฒนาขึ้นจากตราสัญลักษณ์การประชุม ส่วนกรอบรูปดุนลายขึ้นเป็น ลายพื้นเมืองล้านนา ซึ่งทั้งภาพและกรอบนี้ใช้วัสดุ โลหะรีไซเคิลสีเงิน (รัชตะ) โดยผ่านการดุนหรือตอกนับแสนครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ ‘รัชตะแสนตอก’ ผลิตจากชุมชนคุณธรรมฯ วัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จ.เชียงใหม่ กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส) การดุนลายด้วยการตอกนับหมื่นครั้งต่อหนึ่งชิ้นงาน ด้านในของกล่องบุด้วยผ้าไหมสีแดงชาด ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จ.เชียงใหม่ เช่นกัน

ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์” ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว อันเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยามจตุราภรณ์ หรือ “อาภรณ์ทั้งสี่ชิ้น” เชื่อมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย

โดยของที่ระลึกทั้ง 3 รายการ นอกจากตัวผลิตภัณฑ์จะมีที่มาจากแนวคิด BCG แล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ได้ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกัน โดยผลิตจากไม้ยางพาราอบฆ่าเชื้อตามมาตรฐานการส่งออก ประดับโลหะสีเงินฉลุลายตราสัญลักษณ์ APEC 2022 ที่มีความละเอียดอ่อนสวยงาม ไม่เพียงแต่ของที่ระลึกที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือ การนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่าน อาหาร โดยรังสรรค์วัตถุดิบที่โดดเด่นมีคุณภาพจากทุกภูมิภาคของไทยประเทศไทย เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม โดยนำรสชาติของแต่ละภาคมาให้ได้ลิ้มรสมากมาย อาทิ คุกกี้พายสับปะรด จ.ลำปาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพจากโครงการพลังชุมชนของ SCG ที่เปลี่ยนขนมคุกกี้ไส้สับปะรดธรรมดา ๆ สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองกลายเป็นของฝากที่ต้องติดมือ มาเป็นขนมรับรองบนโต๊ะประชุมระดับชาติ ที่มีรูปร่างเป็นรูปสับปะรด ชิ้นพอดีคำให้ลิ้มลอง ปลากุเลาตากใบ จ.นราธิวาส สินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อและได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300 – 1,500 บาท กล่าวได้ว่า ความสำเร็จหลังการประชุม APEC 2022 ได้จบลง ไทยในฐานะเจ้าภาพครั้งที่ 2 ได้โอกาสแสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ ให้เห็นจุดเด่นของทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งการแสดง Soft Power ในมิติต่าง ๆ ที่ได้นำมาโชว์ให้ผู้นำของนานาประเทศได้ชิม ถือเป็นการเปิดประตูเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสประเทศไทย สามารถสร้างภาพลักษณ์และเม็ดเงินเข้ามาแก่ประเทศไทยได้มากขึ้น

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230221191820256