ท่ามกลาง Global Permacrises (วิกฤตที่เกิดในระดับโลก เป็นวิกฤตที่เกิดในหลากหลายมิติ ระลอกแล้วระลอกเล่า เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน รวดเร็วและรุนแรง) ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับชุดของโอกาส ภัยคุกคาม ความท้าทายและขีดความสามารถที่ต้องพัฒนาขึ้นมาชุดใหม่
ภาคธุรกิจจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกต่อจะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบ “Laissez-Faire Business” เป็นการทำธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรโดยอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไปสู่ “Sustainable Business” เป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืน นำมาสู่ 5 ประเด็นท้าทายต่อภาคธุรกิจ:
1. คุณจะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง หรือจะถูกบังคับให้เปลี่ยน
2. คุณจะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเปลี่ยนแปลงเชิงระบบครั้งใหญ่ครอบคลุม Business, Operating, Investment, Collaborative และ Profit Models
3. หากคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลง จะต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศ ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ที่สำคัญใครจะเป็นเจ้าภาพในงานนี้
4. หากคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลง คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งห่วงโซ่อุปทานหรือไม่
5. หากธุรกิจรายย่อย หรือ SMEs ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ใครจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เพราะถ้าหากธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยน จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยและประชาคมโลกในภาพรวมอย่างไร
หากเราไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นท่ามกลาง Global Permacrises ก็คือ “Predictable Surprises” (เป็นเซอร์ไพร้ส์ที่เราคาดอยู่แล้วว่าจะเกิด แต่กลับปล่อยให้เกิดขึ้นจนเกิดเป็นวิกฤตโดยที่ไม่ทำอะไรเลย)
ดังนั้นหากเราไม่ต้องการ Predictable Surprises ก็จำเป็นจะต้องตอบทั้ง 5 คำถามดังกล่าวให้ได้
ระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนสู่ Sustainable Business
ในปัจจุบันภาคธุรกิจไม่สามารถแยกออกจากประชาคมโลกได้ ดังนั้นจะต้องมอง Ecosystem ในเชิงระบบและต้องมีภาพใหญ่ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งใน Global, National และ Corporate Level เข้าด้วยกันให้ได้
ใน Global Level คือ SDGs ทั้ง 17 ข้อ ที่ในปัจจุบันเหลือเวลาเพียงแค่ 7 ปี แต่ยังคงมีเพียงแค่บริษัทรายใหญ่ที่พยายามจะตอบโจทย์ SDGs และทำได้เพียงแค่บางข้อเท่านั้น
ใน National Level คือ BCG ซึ่งเป็น National Agenda ที่สามารถตอบโจทย์ Global Agenda โดยการเชื่อมโยงกับ SDGs
แต่อย่างไรก็ตาม BCG ยังขาดยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อนที่ชัดเจนและมีพลังและใน Corporate Level คือ ESG ซึ่งในปัจจุบันยังคงขาดความเชื่อมโยงกับ 2 ระดับก่อนหน้า และยังขาด Critical Mass ที่จะทำให้เกิดการผนึกกำลังขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน (Sustainable Movement) อย่างแท้จริง
ทั้ง SDGs, BCG และ ESG นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในปัจจุบันยังคงทำแบบต่างคนต่างทำไม่เคยถูกนำมาเชื่อมเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ การที่จะเชื่อมโยงทั้ง 3 ข้อต่อนี้เข้าด้วยกันผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับ Global อาทิ องค์การสหประชาชาติ ในระดับ National อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และในระดับ Corporate อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้อง
1. มีภาพใหญ่เดียวกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
2. มีทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ รู้ว่าจะเดินไปสู่จุดไหน
3. รู้ว่าแต่ละระดับจะยึดโยงและเชื่อมโยงซึ่งกันและกันได้อย่างไร
4. รู้ว่าองค์กรภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีข้อจำกัดอะไรต้องการตัวช่วย หรือสภาพแวดล้อมแบบใด ที่จะปรับเปลี่ยนจาก Laissez Faire Business ไปสู่ Sustainable Business ได้
การจะปรับเปลี่ยนไปสู่ Sustainable Business นั้น องค์กรเอกชนไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องเป็นการขับเคลื่อนเชิงระบบ ซึ่งหากไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ การปรับเปลี่ยนเชิงระบบ (Systemic Transformation) ก็จะไม่เกิดขึ้น
ติดตามรายละเอียดได้ใน https://thaipublica.org/2023/05/suvit-bcg/
ที่มาข้อมูล : เพจ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee