BCG TOURISM เทรนด์การท่องเที่ยวแห่งยุค ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG

share to:

Facebook
Twitter

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีความเห็นชอบให้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ BCG Model อันประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน ที่มีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่ B-เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), C-เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G-เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นั้น ได้ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า BCG Tourism ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางสำคัญของโมเดลนี้ จนปัจจุบันถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแห่งยุคที่กำลังมาแรง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย จะพบว่ามีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ยังเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างสูงมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 3.01 ล้านล้านบาท ก่อนหดตัวลงจากวิกฤติโควิด แต่หลังวิกฤติคลี่คลาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2566 นี้ ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อยู่ที่ประมาณ 1.25-2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการฟื้นตัวร้อยละ 80

ดังนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวจนเกิดเทรนด์ BCG Tourism จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกที่ถูกทางต่อการตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างยิ่ง ซึ่งในสาระของเทรนด์การท่องเที่ยวนี้เป็นอย่างไร เราจะตามไปหาคำตอบกัน

สำรวจความหมายของ BCG TOURISM

BCG Tourism หมายถึง การนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แปรรูปผลิตผลอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงานและปริมาณขยะ ไม่สร้างมลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งสามารถอธิบายคร่าวๆ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละด้าน ได้ดังนี้

1. แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ คือการนำเอาเทคโนโลยีมาจัดการกับผลผลิต ในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ที่เน้นการดูแลผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร มีการดูแลกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีอินทรีย์

2. แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการนำเอาผลิตผลหรือบริการในแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชุมชนท้องถิ่น มาทำให้เกิดการหมุนเวียน ด้วยการวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การออกแบบการผลิตที่ต้นทาง เพื่อให้วัตถุดิบถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ซ้ำหรือปรับปรุงใหม่ได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้วัถตุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

3. แนวทางเศรษฐกิจสีเขียว คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการไม่ใช้สารเคมี และลดปริมาณของเหลือทิ้งหรือขยะลง ตลอดจนสามารถนำขยะไปแปรรูปให้เกิดมูลค่าได้

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/6474581dabc64