Search
Close this search box.

ขยะก็เป็นพลังงานได้ด้วย 4 วิธีนี้! รู้จักพลังงานขยะ พลังงานทางเลือกตามหลัก Circular Economy ใน BCG Model

share to:

Facebook
Twitter

รู้หรือไม่ว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 24.98 ล้านตัน ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มที่ลดลงจากปีก่อนหน้า แต่พบว่ากว่า 31.3% นั้นถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ในขณะที่ 37.1% ได้ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และมีเพียง 31.6% เท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้1

 

จะดีกว่าไหมหากขยะที่เกิดขึ้นทุกวันและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สามารถถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างเต็มอายุขัยของทรัพยากรณ์ที่มีอย่างจำกัดได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ตามยุทธศาสตร์ของ BCG Model

 

ดังนั้น วันนี้เราจะไปดูกันว่าขยะที่เกิดขึ้นทุกวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานทางเลือกได้ด้วยวิธีใด และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

 

วิธีที่ 1 เทคโนโลยีย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion)

เป็นกระบวนการที่สามารถแบ่งออกได้เป็นสามขั้นตอน คือ

  • การบำบัดขั้นต้น ซึ่งเป็นการคัดแยกและลดขนาดของขยะมูลฝอยอินทรีย์
  • ย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งเป็นการผลิตก๊าซจากขยะมูลฝอยอินทรีย์
  • การบำบัดขั้นหลัง ซึ่งเป็นการกำจัดกากตะกอนที่ไม่ได้ใช้

การใช้วิธีนี้จะสามารถเปลี่ยนขยะมูลฝอยอินทรีย์ 1 ตัน เป็นก๊าซชีวภาพได้ราว 100-200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีมีเทนเป็นส่วนประกอบราวร้อยละ 55-75 ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อนได้ราวร้อยละ 20-40 ส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่ายออกได้

 

วิธีที่ 2 เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)

ขยะเชื้อเพลิง คือ ขยะมูลฝอยที่ผ่านการจัดการ เช่น แยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ ฉีกตัดขยะมูลฝอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งทำให้ขยะกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าขยะทั่วไปเนื่องจากมีค่าความร้อนสูงกว่า ง่ายต่อการจัดเก็บ ขนส่ง และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า

 

ขยะเชื้อเพลิงสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ต่อได้เลยในแหล่งผลิตขยะชนิดนี้ หรือนำไปใช้ร่วมกับการเผาร่วมกับถ่านหินเพื่อลดปริมาณการใช้ถ่านหินก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

วิธีที่ 3 เทคโนโลยีผลิตก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification)

เป็นการเปลี่ยนขยะเป็นก๊าซ โดยสารอินทรีย์ในขยะจะทำปฏิกิริยากับอากาศหรือออกซิเจนที่ปริมาณจำกัด ทำให้เกิดก๊าซที่มีองค์ประกอบหลักเป็น คาร์บอนมอนออกไซด์ ไฮโดรเจน และมีเทน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า การทำปฏิกิริยาสันดาปแบบไม่สมบูรณ์ จนเกิดเป็นก๊าซที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้

 

ก๊าซเชื้อเพลิงสามารถนำไปใช้ผลิตความร้อนโดยตรง ผลิตไฟฟ้า หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับพาหนะ เครื่องยนต์สันดาปของกังหันก๊าซหรือหม้อไอน้ำได้อีกด้วย

 

วิธีที่ 4 เทคโนโลยีพลาสมาอาร์ก (Plasma Arc)

เป็นเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อกำจัดขยะอันตรายและขยะมูลฝอยบางชนิดที่มีความแปรปรวนด้านคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีสูง โดยจะเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ความร้อนกับแก๊ส เพื่อกำจัดขยะกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยเทคโนโลยีเตาเผาจะมีหลัก ๆ ด้วยกันสองระบบ

  • ระบบเผาไหม้โดยตรง ช่วยกำจัดขยะติดเชื้อไปพร้อมกับการผลิตพลังงานความร้อน
  • ระบบเตาแก๊สซิไฟเออร์ ช่วยเปลี่ยนสารอินทรีย์ในขยะติดเชื้อเป็นแก๊สเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าผ่านเครื่องยนต์สันดาปได้

 

และวิธีที่สำคัญที่สุด คือขยะจะกลับมามีประโยชน์กับเราได้สูงสุด เป็นวิธีการที่ไม่ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงใด ๆ และทุกคนสามารถทำได้เลยทุกวัน ซึ่งก็คือ “การแยกขยะ”

เพราะการแยกขยะนอกจากจะช่วยให้เกิดการจัดการคัดแยกขยะหลากหลายประเภทออกจากกันเป็นได้ง่าย เช่นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (reuse) และขยะที่สามารถนำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทันที (recylcle) ก็ยังสามารถช่วยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถนำขยะรูปแบบต่าง ๆ ไปจัดการตามวิธีต่าง ๆ ขั้นต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

 

1ข้อมูลจากระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?year=2564

 

อ้างอิง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI) https://erdi.cmu.ac.th/?p=1578

และกระทรวงพลังงาน http://www2.dede.go.th/km_ber/inneract/s4-1.pdf?fbclid=IwAR3Il88AscU5cGHt9ZrBaht_Dv1T5iDzO6g6Rm9DY71AID1nvdwGeeOqv5s