ช่วงความเคลื่อนไหวของสังคมไทยในรอยต่อทศวรรษ พ.ศ. 2550 ถึง 2560 เป็นช่วงการปรับตัวสำคัญของสังคมไทยอีกครั้ง ที่พยายามเคลื่อนออกจากสภาวะอับจนในการพัฒนาประเทศ! หลังเผชิญวิกฤตทางการเมืองมานับกว่าทศวรรษ ก่อผลรวมเป็นความชะงักงันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ!
ถูกความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ของโลกเคลื่อนทิ้งห่างไปนับสิบปีจากที่เป็นอยู่! โดยเฉพาะโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่วิ่งวนอยู่ในรูปแบบเดิม-ระดับต่ำ เคลื่อนไปไกลแค่จ่ออยู่ปากทางของโลกดิจิทัล! เศรษฐกิจสังคมไทยช่วงนั้นมีสภาพที่ตกอยู่ในหนทางตีบตันของการพัฒนาประเทศ ต้องการการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทิศทางใหม่อย่างยิ่ง!
การปรากฏขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จากความสุกงอมที่สั่งสมความเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลมานาน จนถึงการปรับตัวของภูมิเศรษฐกิจโลก การปรากฏขึ้นของทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ยุคใหม่ของโลก ฯลฯ ผลรวมดังกล่าวส่งผลต่อการปรับตัวยกระดับสังคมเศรษฐกิจโดยรวมของประชาคมโลก ทำให้ทุกมุมโลกมุ่งแข่งขันสร้างการลงทุนใหม่ ปรับฐานเทคโนโลยีสร้างเศรษฐกิจ สังคม ในระดับที่มีผลต่อการงานและการดำเนินชีวิตใหม่ที่ผนวกผสานเข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการปรับตัวของ Ecosystem และการสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องยกระดับปรับฐานเศรษฐกิจสังคมและสร้างการแข่งขันการลงทุนในทิศทางใหม่ เปิดรับเทคโนโลยีที่จะสร้างพลังทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงวันนี้สู่อนาคตในมิติของ FUTURE IS NOW!
อีอีซี
สังคมไทยก็เป็นหนึ่งในการขยับปรับสร้างความก้าวหน้าใหม่ โดยปักหมุดที่ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “อีอีซี” (Eastern Economic Corridor – EEC) ประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา เป็นเขตพัฒนาพิเศษฯ เปิดรับการแข่งขันลงทุนตาม พรบ.อีอีซี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2561 มุ่งยกระดับปรับฐานเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาโดยรวมขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันความก้าวหน้าในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะจากคลื่นความเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0
ประชาคมโลกกลุ่มที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันการลงทุน ได้ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสะสมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากว่า 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในการเปิดเส้นทางภูมิเศรษฐกิจใหม่ (BRI) ของจีน การเปลี่ยนปรับภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจากกลุ่ม BRICS และจากการรวมกลุ่มของประชาคมโลกกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวในเกือบทุกภูมิภาค! ซึ่งการเปิดพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะยกระดับขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหม่อย่างมีนัยสำคัญ!
โมเดลการพัฒนาประเทศใหม่จึงปรากฏขึ้นที่เรียกกันว่า อีอีซี โมเดล (EEC model) ซึ่งมีที่มาปรัชญาความหมายและภาคปฏิบัติช่วงที่ผ่านมาเกือบ 5 ปี จนรับรู้กันกว้างขวางในพื้นที่และในการลงทุนจากสังคมโลก! แบบแผนจากบทเรียนการสร้างความก้าวหน้า-ยกระดับการพัฒนาประเทศมีหลายมิติ ทั้งด้านกฏหมาย การบริหารจัดการระบบการลงทุนใหม่ การดูแลสิ่งแวดล้อม การสร้างคนและการศึกษา การส่งเสริมท้องถิ่น ฯ ที่ช่วยเสริมสร้างการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสังคมใหม่ การพัฒนาคน-การศึกษาและท้องถิ่นทิศทางใหม่ ฯ เกิดขึ้นได้มากบ้าง-น้อยบ้างหลากมิติ ตามคุณภาพการปฏิบัติงานและการมีความร่วมมือจากเครือข่ายงานแต่ละส่วน ฯลฯ ซึ่งผลรวมนี้ได้ขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าใหม่ในการยกระดับปรับประเทศขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ!
มิติแรก EEC Model มิติด้านกฎหมาย ที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน-เชื้อเชิญการลงทุนสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใสเบ็ดเสร็จรวดเร็วตอบโจทย์ในการที่จะส่งถึงระเบียบปฏิบัติเพื่อการแข่งขัน-การลงทุนได้อย่างแม่นยำรวดเร็ว โปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีพลังที่จะดึงดูดการลงทุนบนฐานการจัดการที่ดี! กฎหมายตาม พรบ.อีอีซี ที่ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2561 นั้น เป็นกฎหมายเชิงนวัตกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจนมีความแข็งแกร่งเท่าทันการแข่งขันยุคใหม่ จากความเบ็ดเสร็จในตัวที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษฯ สกพอ. หรือ อีอีซี เป็นฐานการขับเคลื่อนที่สำคัญ ด้วยว่าการลงทุนยุคใหม่นั้นเคลื่อนอยู่บนความก้าวหน้าของโลกดิจิทัล มีการเชื่อมต่อสื่อสารอย่างไร้ขีดจำกัด มีการแข่งขันย่อมสูงมาก จะอาศัยระบบระเบียบกฏหมายเก่าของ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้มานาน ย่อมไม่ตอบโจทย์เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถสร้างการจัดการแบบ one stop service ได้ กฎหมายตาม พรบ.อีอีซี จึงเป็นโมเดลมิติ ที่มีความใหม่เท่าทันโลก-มีเป้าหมายนัยสำคัญต่อการแข่งขันการลงทุนที่มุ่งยกระดับปรับสร้างความก้าวหน้าและการปรับตัวในการลงทุนยุคใหม่ และเชื่อมประสานให้เกิดกลไกทำงานตามเป้าหมายวิสัยทัศน์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการนำใช้และติดตามงานที่มีคุณภาพ
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/01/eec-model-thailand-revolution/