Search
Close this search box.

โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น Medical Hub เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ

share to:

Facebook
Twitter

การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมเป็น BCG Economy Model ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มความสามารถการเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub คือ หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของไทยในการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ‘เครื่องมือแพทย์’ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยผลักดันให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 การระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนทั่วโลกมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเครื่องมือการแพทย์ รวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้า หรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรภายในประเทศ เพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ลดการนำเข้าตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับการให้บริการทางสาธารณสุขของประเทศในการดูแลรักษาคนไทยได้อย่างทันท่วงที

 

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย

มูลค่าการนำเข้า – ส่งออก ปี 2564 – 2565

เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลจึงมีการสนับสนุนให้พัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งนับวันยิ่งมีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

โดยการค้าเครื่องมือการแพทย์ของประเทศไทยมีการส่งออกในปี 2565 อยู่ที่ 119,200 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าที่มีประมาณ 96,587 ล้านบาท และเป็นประเทศที่มีการค้าเครื่องมือแพทย์สูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 13.16 % สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.83%

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมูลค่าสูงที่สุดคือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์(Disposable Medical Devices) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามูลค่าสูงที่สุด คือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์(Disposable Medical Devices)

ทั้งนี้การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 1,586 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนมากเป็นการผลิตเพื่อส่งออกในกลุ่มวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งถึง 84% ได้แก่แอลกอฮอล์ ผ้าก๊อซ เข็มฉีดยา สบู่ล้างมือ สเปรย์ล้างมือ หน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกัน เป็นต้น

สอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่พบว่ามีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 66 แห่ง ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นการขอส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มวัสดุทางการแพทย์ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องมือทางจักษุ เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าที่ไทยนำเข้ามากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

 

ที่มาบทความ/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/23-5up-bcg-model-pushes-thailand-to-become-a-medical-hub