มองเป้าหมาย “BCG Model” โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของไทย ที่ให้มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม

share to:

Facebook
Twitter

มากกว่าเป้าหมายเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี… “BCG Model” ให้อะไรกับทุกคนได้อีกบ้าง ?

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “BCG Model” โมเดลทางเศรษฐกิจของไทยที่รัฐบาลได้ใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ โดยอิงมาจากจุดแข็งของประเทศไทยอย่างเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 ด้านหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ซึ่งถ้ามองโดยภาพรวมทุกคนอาจจะเข้าใจได้ว่า โมเดลนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า เพราะเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านนี้ดูสร้างความเข้าใจให้กับเราในทิศทางนั้น แต่จริงๆ แล้ว BCG Model ยังให้อะไรกับทุกคนมากกว่าเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพราะเป้าหมายของ BCG Model ที่รัฐบาลไทยวางเอาไว้นั้นครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่

สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ มีการออกนโยบายและส่งเสริมทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือภาคการผลิต ให้เห็นความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ของตนเอง โดยประเทศไทยเองก็ได้มีการวางเป้าหมายในเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน ดังนี้

• ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน
• ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-26 ในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2548
• ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ด้วยวิธีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านไร่

เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ก็จะให้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจต่อภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเราที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร รวมถึงการท่องเที่ยว ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ หากเราก้าวไปถึงเป้าหมายก็จะช่วยสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในหลายมิติ ดังนี้

• เพิ่มมูลค่า GDP ทางเศรษฐกิจขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากปี พ.ศ. 2561
• เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
• เพิ่มรายได้ของเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น ก็ทำให้คนมีรายได้ที่มากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เรากำลังเผชิญก็จะถูกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยประเทศไทยก็มีการวางเป้าหมายในมิตินี้เช่นกัน ดังนี้

• ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
• ลดจำนวนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการให้ต่ำกว่าร้อยละ 5
• เพิ่มจำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแม้ในภาวะวิกฤตได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน
• เพิ่มจำนวนชุมชนที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

เพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง

สุดท้ายอาจจะเป็นข้อที่หลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึง แต่ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มทุนลงไปเป็นจำนวนมหาศาล เช่น การนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่าหกหมื่นล้านบาท โมเดลนี้ก็จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศทั้งหมดให้พร้อมพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีการวางเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและพัฒนาองค์ความรู้ ดังนี้

• เพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
• เพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย
• ดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุล ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (หรือลดลงประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท)
ซึ่งการที่ประเทศเรามีดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุลนั้นอาจหมายถึงการที่ไทยยังนำเข้าเครื่องจักรจำนวนมากเพื่อขยายกำลังการผลิต ทำให้รายรับรวมน้อยกว่ารายจ่ายรวมจากการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
• ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (หรือลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)

และในฐานะที่ NIA เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านนวัตกรรม เราเองก็มีส่วนส่งเสริมทั้งในบทบาทของการให้เงินทุนสนับสนุนการทำนวัตกรรม พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายที่เอื้อต่อมิติด้านความยั่งยืนในหลายโครงการด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะสร้างผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่มีความเข้าใจเรื่องโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน และเมื่อเกิดความเข้าใจก็จะนำมาสู่การสร้างสังคมที่ดีขึ้นตามมาเป็นลำดับ

 

 

ที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.nia.or.th/BCG-Goal

บทความที่เกี่ยวข้อง