การเวียนใช้เศษเหลือทางอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่การเป็นกระดาษนั้น นอกจากจะเป็นทางออกของเศษเหลือเหล่านั้นแล้วกระดาษยังคงก็เป็นหนึ่งในวัสดุต้นทางที่สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างหลากหลายด้านงานออกแบบ ธุรกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะใช้งานเป็นกระดาษเอง วัสดุหีบห่อ วัสดุตกแต่ง หรือแม้แต่เป็นโครงสร้างในเฟอร์นิเจอร์ องค์ประกอบอาคารบ้างในบางส่วน
การเวียนใช้เศษเหลือสู่การเป็นกระดาษ จึงเหมือนเป็นการต่อยอดสู่การปรับใช้ ประโยชน์และยังเป็นทางออกที่น่าสนใจของปัญหานี้เมื่อไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด หรือปาล์มน้ำมัน ปีหนึ่ง ๆ พืชเหล่านี้ทิ้ง “ส่วนเกิน” ไว้มหาศาลเกินจินตนาการ บางชนิดหลังจากโตจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็ต้องโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่ บางต้นเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งนานหลายปี แต่ท้ายที่สุดผลออกมาก็เหมือนกันคือ เหลือทิ้งและจบชีวิตที่การเผาทำลาย
ปัจจุบันฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนตระหนักเพราะส่งผลต่อสุขภาพ บ้างก็แก้ด้วยปลายเหตุโดยการใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพบ้าง แต่สาเหตุหลักนั่นคือ “การเผา” ของการกำจัดเศษเหลือทางเกษตรเกิดเป็นปัญหาเพราะวิธีกำจัดที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากที่สุด แต่หากลองพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุเหลือทางการเกษตรเหล่านี้ ก็ดูจะเป็นไปได้สำหรับการสร้าง หมุนเวียน และนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกจากจะเป็นการหาทางไปให้กับบรรดาส่วนเกินทางการเกษตรแล้ว ยังช่วยลดภาระจากการเผาทำลายที่เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของมลพิษทางอากาศ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ “คาร์บอน” ที่มาพร้อมกับควันลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม
อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรถือเป็น BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในนั้นที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
Room Books ร่วมกับ CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency) และ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) ขอนำเสนอวัสดุไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database โดยวัสดุส่วนใหญ่ได้รับการคัดเลือกเข้าฐานข้อมูลวัสดุระดับนานาชาติจาก Material ConneXion เพื่อร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับนักออกแบบ และผู้ประกอบการสู่แนวทางวัสดุที่ตอบสนองต่อทั้งธุรกิจและงานออกแบบ โดยเฉพาะในแง่ของความยั่งยืนที่เปิดกว้าง
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.tcdcmaterial.com/
อีเมล: infomaterials@cea.or.th
โทร. 0-2105-7400 ต่อ 254, 241
ตั้งแต่เวลา 10.30-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
เนื้อหา: ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center)
เรียบเรียง: Lily J.
#MaterialRoom #Betterism
อัพเดตวัสดุใหม่ วัสดุน่าสนใจ เพื่องานออกแบบของคุณ
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.facebook.com/roomfan/posts/pfbid0e6PPRgC59QBSRz1hLGRTWxDfYAbCawnNQTPBWrKRtSy9bJbTmHtF1afugEB2Amgbl