ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคที่เครื่องจักรแต่ละเครื่องสามารถสื่อสารถึงกันและกัน (Cyber-physical System) และสื่อสารกับมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบและสั่งการการทำงานของเครื่องจักรได้สะดวกจากทุกที่ทุกเวลา ลดขั้นตอนการทำงาน ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในระบบ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสายการผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ตามการจะยกระดับภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศสู่ระดับ 4.0 ได้อย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยความพร้อมจากหลายด้านทั้งผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แรงงานทักษะสูง และเงินทุน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่เสมอ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ภายใต้การดำเนินงานเมืองนวัตกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเนคเทคมาให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยแนวคิด เข้าถึงง่าย ใช้งานได้จริง และมีราคาที่จับต้องได้
โดยการดำเนินงานของศูนย์ SMC ประกอบด้วย 5 ด้านหลัก คือ การประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ (Assess) การให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยี (Consult) การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรม (Implement) การให้บริการเครื่องมือทดสอบระบบ (Testbed) และการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ (Training) ทั้งนี้ในขณะที่พื้นที่ EECi กำลังดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2565 ศูนย์ SMC ได้นำร่องการให้บริการก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2563 ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
ศูนย์ SMC ดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยความเข้าใจ
แม้โลกจะก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 และยากต่อการยกระดับ เนื่องด้วยปัญหาสำคัญ คือ ผู้ประกอบการไม่รู้ถึงปัญหาและสิ่งที่ควรพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจในการยกระดับอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า SMC ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ จึงมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยดูแล ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการแบบครบวงจรหรือ One Stop Service เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่องและเป็นการดูแลด้วยความเข้าอกเข้าใจ
“3 ขั้นตอนหลักในการช่วยเหลือยกระดับอุตสาหกรรม คือ 1) ช่วยประเมินความพร้อมของสถานประกอบการ ทั้งด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน ผ่านตัวชี้วัดอุตสาหกรรม Thailand i4.0 Index[1] เพื่อช่วยแนะนำการแก้ปัญหาหรือยกระดับอุตสาหกรรมตามลำดับความสำคัญ 2) ให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงช่วยแนะนำผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนาระบบ (System Integrator: SI) 3) ช่วยแนะนำแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการยกระดับอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบการสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ”
ศูนย์ SMC พัฒนา Platform Solution หนุนเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมไทย
โดยทั่วไปการยกระดับอุตสาหกรรมผู้ประกอบการหรือองค์กรจะดำเนินการว่าจ้าง SI หรือหน่วยงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาระบบหรือเทคโนโลยีในรูปแบบ Custom Solution หรือการว่าจ้างเพื่อพัฒนางานของตนโดยเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะแก่ผู้ที่มีเงินทุนและความพร้อมสูง SMC ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรมแบบทั่วถึงทั้งประเทศ SMC จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแบบ Platform Solution หรือการออกแบบและพัฒนาระบบให้เหมาะกับการแก้ปัญหาพื้นฐานในโรงงานทั่วไปควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่มีโรงงานขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมได้เช่นกัน และเหมาะแก่การขยายผลในระดับประเทศอย่างแท้จริง
ดร.พนิตา อธิบายว่าที่ศูนย์ SMC มีการให้บริการทั้งรูปแบบ Custom Solution และ Platform Solution เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและความพร้อมของผู้ประกอบการหรือองค์กรมากที่สุด ตัวอย่างงาน Custom Solution ที่นักวิจัยได้ให้บริการไปแล้ว เช่น การพัฒนาระบบส่งกำลังและระบบขับเคลื่อนในต้นแบบเรือไฟฟ้าให้แก่บริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด การพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการพัฒนาระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยปัญญาประดิษฐ์และบริหารจัดการข้อมูลผ่านเครือข่ายระบบคลาวด์ให้แก่การประปานครหลวง
“ส่วนทางด้าน Platform Solution ที่ศูนย์ SMC ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนา และได้นำร่องการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทยแล้วคือ แพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform)[2] แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบ Industrial Internet of Things (IIoT) ในโรงงาน โดยเป็นการติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT) ให้กับอุปกรณ์ที่มีการใช้งานทั่วไปในโรงงานส่วนใหญ่ เช่น หม้อต้ม เครื่องทำความเย็น และเครื่องอัดอากาศ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน (Energy Efficiency Monitoring) ผ่านแดชบอร์ดแบบเรียลไทม์จากทุกที่ทุกเวลา เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนการทำงาน และพัฒนาให้ระบบภายในโรงงานมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดการอนุรักษ์พลังงาน[3]
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม IDA ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้งานระบบ IIoT เพราะศูนย์ SMC ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไว้รองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อการทำงานของเครื่องจักรด้วยระบบ IIoT (IIoT Connectivity and Interoperability) สำหรับใช้เชื่อมต่อเครื่องจักรที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบ PLC (Programmable Logic Controller) ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถเชื่อมต่อการทำงานของเครื่องจักรแบบดั้งเดิมได้ ผู้ประกอบการจึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ นอกจากนี้ยังมีระบบ IoT คลาวด์แพลตฟอร์ม NETPIE[4] ซึ่งให้บริการฟรีแก่ผู้ประกอบการไทยมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเรื่องเซิฟเวอร์และผู้ดูแลระบบอีกด้วย
อีกตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไว้รองรับ คือ ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission System) สำหรับใช้พยากรณ์สถานะของมอเตอร์ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบรับทราบการพยากรณ์ความเสียหายของเครื่องจักรล่วงหน้า และสามารถบำรุงรักษาเชิงรุกเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสายการผลิตได้”
ดร.พนิตา เสริมว่า นอกจากการให้บริการเทคโนโลยี Platform Solution ปัจจุบันศูนย์ SMC ยังมีการบริการอบรมให้ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การใช้งานชุดระบบควบคุมอัตโนมัติและ IIoT ในงานอุตสาหกรรม และการนำระบบดิจิทัลลีนมาช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้มีการจัดให้ความรู้ คำแนะนำ และมี Testbed ให้บริการแล้วที่ศูนย์การเรียนรู้ SMC อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
เตรียมพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบที่ EECi – ARIPOLIS
นอกจากการพัฒนา Platform Solution ที่เกี่ยวกับระบบ IIoT เพื่อมุ่งพาอุตสาหกรรมไทยก้าวข้ามสู่ยุค 4.0 แล้ว ศูนย์ SMC ยังมุ่งมั่นพัฒนาอีกหลากหลาย Platform Solution ที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้บริการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองนวัตกรรม ARIPOLIS เขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
ดร.พนิตา อธิบายว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ศูนย์ SMC จะเปิดให้บริการในรูปแบบสมาชิก (Membership) แก่ผู้ประกอบการโรงงาน SI ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยี นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างระบบนิเวศในการดำเนินงานยกระดับอุตสาหกรรมไทย
“ตัวอย่างเทคโนโลยีที่จะมีให้บริการเพิ่มเติมที่ EECi เช่น เทคโนโลยีคลังสินค้าสมัยใหม่ เทคโนโลยีระบุตำแหน่งในอาคาร เทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้บริการ เทคโนโลยีการผลิตแบบ Mass Customization หรือการปรับให้เครื่องจักรมีความยืดหยุ่นสามารถผลิตสินค้าได้หลายชนิดในเครื่องจักรเดียว และเทคโนโลยีอัตโนมัติสำหรับเกษตรสมัยใหม่ ฯลฯ ส่วนตัวอย่างงานบริการที่จะมีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น Testbed สำหรับทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้า และระบบที่จำเป็นในยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับการมาของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และบริการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับระบบหรืออุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ในอนาคตศูนย์ SMC ยังมีแนวคิดที่จะเชิญผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรม (Vendor) มาจัดตั้ง Testbed ในพื้นที่ เพื่อให้สมาชิกที่สนใจได้ทดลองใช้งาน ทั้งเพื่อการศึกษาหาความรู้ และใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกสรรเทคโนโลยีไปใช้งานจริงที่โรงงาน”
สร้างคน สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีและการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน อีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการทำงานของศูนย์ SMC คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับการขยายการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 140,000 โรงงาน
ดร.พนิตา อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ศูนย์ SMC มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาดำเนินกิจกรรมพัฒนากำลังคนคู่ขนานไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอยู่เสมอ นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา 1 ปี ศูนย์ SMC ได้ดำเนินงานจัดกิจกรรมให้ความรู้ (Training) แก่ SI ผู้ประกอบการ อาจารย์ และนักศึกษา มาแล้วหลายโครงการ รวมผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า 2,300 คน ตัวอย่างกิจกรรมที่มีการจัดงานไปแล้ว เช่น การอบรม “Industrial Automation Training Systems” ให้แก่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรม การอบรม “การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้น” ให้แก่บุคลากรอาชีวศึกษา และการอบรม “AI Innovation JumpStart” ให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี
ดร.พนิตา ทิ้งท้ายว่า การเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติที่โรงงานมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี มิติของการพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ และมิติของการทำอุตสาหกรรมในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อขอรับบริการได้ที่ : www.nectec.or.th/smc
รายละเอียดเพิ่มเติม
[1] Thailand i4.0 Index คือ ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (รายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/3HCzYg8)
[2] ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and data analytics platform) ได้ที่ https://bit.ly/3EKqyx6
[3] การอนุรักษ์พลังงาน คือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
[4] NETPIE คือระบบคลาวด์ (Cloud computing) สัญชาติไทยที่พัฒนาโดย NECTEC สวทช. ปัจจุบันได้ผ่านการยกระดับจากห้องวิจัยไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ (Spin-off) แล้วในนามบริษัทเน็กซ์พาย จำกัด (NEXPIE Co. Ltd.) ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้การสนับสนุนการให้บริการระบบคลาวด์ NETPIE ฟรีตลอดชีพแก่นักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา และภาคอุตสาหกรรมไทย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://netpie.io/