รัฐบาล ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ หลังปรับปรุงกฎหมายที่ช่วยให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนจากความขัดแย้งเป็นช่วยกันปกป้องและรักษาผืนป่า ด้วยการสร้างป่าชุมชนและปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์
ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำ หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ในหลากหลายมิติมากขึ้น จากเดิมมักเลือกแก้ปัญหาด้านการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว จนอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปคนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อให้คนที่อยู่รอบผืนป่าสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกกฎหมาย แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ทรัพยากรผืนป่าและสร้างความหวงแหน ในสมบัติที่มีโอกาสหมดไปหากไม่ช่วยกันดูแล ปกป้อง และรักษาทรัพยากรที่เรียกว่า “ป่า” ควบคู่กับสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเอง มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป และส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ได้มากขึ้นกว่า 100,000 ไร่ แล้วยังสามารถนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินได้ด้วย
การบริหารจัดการพื้นที่ป่าในปัจจุบันนอกจากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย และเป็นกำแพงปกป้องผืนป่าแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าสนับสนุนสร้างรายได้เสริมเพิ่มให้กับชุมชนจากโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นตลาดการค้าด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีการเติบโตอย่างมากในการขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ชุมชน และเขตเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 35 , ป่าในเมืองร้อยละ 5 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 32 หรือประมาณ 102 ล้านไร่ ซึ่งป่าชุมชนยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ ตามแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Model เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้อย่างสมบูรณ์ สิ่งสำคัญเครือข่ายป่าชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญสะท้อนให้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าอย่างเกื้อกูล
ปัจจุบันประเทศไทยจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วกว่า 11,327 แห่ง มีชุมชนที่มีส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์ และได้ใช้ประโยชน์กว่า 13,028 หมู่บ้าน รวมพื้นที่กว่า 6.29 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้ 15,000 แห่ง รวมพื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ เพื่อให้ไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมรองรับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว และตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ที่มีไทยเป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230206093427411