Search
Close this search box.

สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ : โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

share to:

Facebook
Twitter

ผลงาน : แผนงานยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2565
สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ
“โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน”

ปัจจุบันทรัพยากรชีวภาพและพื้นที่ธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการใช้ประโยชน์ สภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาที่ต้องเร่งจัดการ “ระบบนิเวศชายฝั่ง” ซึ่งเป็นแหล่ง“อู่ข้าวอู่น้ำ”สร้างรายได้ให้กับชุมชนประมงพื้นบ้าน และเชื่อมโยงกับความสมบูรณ์ของแนวปะการังและหญ้าทะเล ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์จึงสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เช่น การใช้รากไม้โกงกางเทียม ซึ่งอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นนวัตกรรมที่ทำขึ้นจากยางพารา เพื่อเลียนแบบรากไม้โกงกางตามธรรมชาติ เพื่อดูดซับความแรงของคลื่น และช่วยเร่งการตกตะกอนดินหลังแนวการปักโกงกางเทียม วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการวิจัยและทดสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสามารถรื้อถอนได้ โดยทดสอบใช้ในพื้นที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ สามารถดูดซับความแรงคลื่นและเกิดแนวตะกอนดินเพื่อใช้ในการปลูกป่าชายเลน

โครงการนี้ประกอบด้วยงาน 2 ส่วน คือ
1) การสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศชายฝั่ง โดยการนำรากไม้โกงกางเทียมไปติดตั้งในพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งบริเวณแนวชายหาด 5 พื้นที่ ใน จ.พังงา จ.ระยอง จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ พร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง
2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวฐานชีวภาพโดยใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นทั้งด้านทรัพยากรและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ผลการดำเนินงาน :

1. หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชน คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งไม้โกงกางเทียมและรากไม้เทียม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ศึกษาสภาพชายหาดและออกแบบการติดตั้ง ใน 5 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดระยอง บริเวณหน้าหาดแสงจันทร์ หน้าหาดแหลมเจริญและหาดแหลมรุ่งเรือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนหินทิ้ง จังหวัดเพชรบุรี บริเวณพื้นที่โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นลมแรง และเป็นบริเวณที่ต้องการสร้างอาชีพประมงให้กับชุมชน เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริเวณพื้นที่หาดหัวโขด ตำบลเขาแดง และหาดสามร้อยยอด หมู่ 3 บ้านพุใหญ่ ตำบลสามร้อยยอด ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนหินทิ้ง จังหวัดพังงา บริเวณหาดนางทอง (หน้าบ้านเขาหลักบีชรีสอร์ท) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ และคลื่นที่รุนแรงในหน้ามรสุม จังหวัดจันทบุรี บริเวณบ้านเรือแตก ได้รับผลกระทบจากคลื่นที่รุนแรงในหน้ามรสุม ผลการติดตั้งและวัดระดับตะกอนทรายในช่วงกรกฎาคม 2565 ถึง พฤษภาคม 2566
พบว่าการติดตั้งไม้โกงกางเทียมซีออสสามารถช่วยรักษาระดับตะกอนหลังแนวการติดตั้งได้โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระยอง ในขณะที่จังหวัดพังงา การติดตั้งไม้โกงกางเทียมซีออสไม่สามารถรักษาระดับตะกอนหลังแนวการติดตั้งได้ เนื่องจากคลื่นมีความรุนแรงมากถึงแม้จะเป็นช่วงนอกฤดูมรสุม

2. ติดตั้งเซนเซอร์ IOT ตรวจวัดสภาพอากาศ เซนเซอร์วัดความสูงคลื่น และกล้อง CCTV ที่ศูนย์ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จ.เพชรบุรี และพื้นที่กลุ่มชุมชนประมงเก้ายอด หาดแหลมเจริญ จ.ระยอง เพื่อติดตามสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่ง พร้อมแสดงบนระบบ Map Dashboard Website (http://cemp.nstda.or.th)

3. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในการติดตามการเปลี่ยนแปลงการกัดเซาะชายฝั่ง โดย สวทช. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเว็บไซต์ Bio Citizen แหล่งรวมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พืชและสัตว์ในประเทศไทย (2biocs.com) เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งเข้าเว็บไซต์ได้ รวมทั้งมี Line Official “BioC S” สามารถส่งภาพ พิกัด และข้อความเพื่อรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชนและเยาวชน เพื่อสร้างเครือข่ายนักสำรวจและเฝ้าระวังการกัดเซาะชายฝั่งในบริบทของวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง จำนวน 202 คน

4. คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวฐานชีวภาพ 5 ชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มขนมชุมชนบ้านหาญ จ.สตูล, วิสาหกิจชุมชนพริกไทยสุไหงอุเป จ.สตูล, วิสาหกิจชุมชนปากน้ำชีแอนท์ฟิชชิ่ง จ.สตูล, วิสาหกิจชุมชนนาทอนโฮมสเตย์ จ.สตูล และวิสาหกิจชุมชนหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยดำเนินการ ดังนี้
1) สร้าง story content ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมสถานที่ท่องเที่ยว และจัดเก็บข้อมูลในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์
2) ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหารเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในรูปแบบของ “from Local to Table”
3) การยกระดับศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น ด้านการคำนวณต้นทุนและราคาขาย ด้านการประชาสัมพันธ์ การตลาดออนไลน์ เป็นต้น
4) การยกระดับมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพท้องถิ่น ได้แก่ ผักลิ้นห่าน และจักจั่นทะเลในหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต พัฒนาระบบการปลูกผักลิ้นห่านจากขวดพลาสติกเหลือใช้ในระดับครัวเรือน และการแปรรูปอาหารจากจักจั่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

รูปที่ 1 การติดตั้งไม้โกงกางเทียมและรากไม้เทียม ณ พื้นที่หน้าหาดแหลมเจริญ จังหวัดระยอง

 

รูปที่ 2 การติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศและการมีส่วนร่วมของประชาชนติดตามการกัดเซาะชายฝั่ง

 

รูปที่ 3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวฐานชีวภาพเพื่อพัฒนาเศรฐกิจฐานรากของชุมชน จังหวัดสตูล