Search
Close this search box.

เส้นทาง 92 ปี กรมสรรพสามิต ผ่านเรื่องเล่าของอดีตอธิบดี…จากกรมจัดเก็บภาษีสุรา สู่ยุคใหม่ ‘กรม ESG’

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้จัดเสวนา “92 ปี กรมสรรพสามิต” ในการนี้ทางกรมสรรพสามิตเชิญอดีตอธิบดีซึ่งมาร่วมเสวนา ผู้มีอาวุโสสุด คือ นายอรัญ ธรรมโน วัย 90 ปี หรืออ่อนกว่ากรมเพียง 2 ปี อดีตอธิบดีเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราวเส้นทางการเติบโตของกรมจัดเก็บรายได้ที่เล็กที่สุด และเกือบจะถูกยุบตามข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็พลิกตัวรอดพ้นมาได้ และยังสามารถจัดเก็บภาษีรายได้จากน้ำมันได้ถึงปีละ 2 แสนล้านบาท สามารถปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสุรา ผ่านการปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่หลายครั้ง รวมไปถึงภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีบาปต่าง ๆ

จนมาล่าสุด ได้ชูยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษีเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล หรือ “ESG” ที่สอดคล้องกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสอดรับกับคำประกาศของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นกลางในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปี ค.ศ.2050

ลองมาดูเรื่องราวเส้นทางการเติบโตของกรมจัดเก็บภาษีที่เคยได้ชื่อว่า กรมภาษี “สุรา พาชี กีฬา บัตร” จนก้าวมาสู่ กรม ESG (Environment, Social, และ Governance) ในยุคการพัฒนาเพื่อการยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก

นายอรัญ ธรรมโน (กลาง)
“อรัญ ธรรมโน” ออกกม.น้ำมันฉบับแรก
เริ่มด้วยนายอรัญ ที่รับราชการกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2497 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการคลัง แต่เหมือนชีวิตจะผูกพันกรมสรรพสามิต เพราะในปี 2508 ถูกส่งมาเป็นผู้ร่วมเขียนกฎหมายภาษีน้ำมันฉบับแรก ถือเป็นการวางรากฐานการจัดเก็บภาษีน้ำมันจนทำรายได้ให้ประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ในปัจจุบัน จากนั้นปลายปี 2510 ก็ถูกย้ายมาเป็นผู้ควบคุมโรงงานที่กรมสรรพสามิต โดยงานสำคัญของนายอรัญ สมัยอยู่กรมสรรสามิต คือ ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับแรก เมื่อปี 2527

“ตอนนั้นโชคดีที่ได้เป็นประธานกรรมาธิการกฎหมายนี้เอง ที่ได้เป็นประธานกรรมาธิการเพราะไม่มีใครอยากให้มีประมวลกฎหมาย ผู้แทนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำ ก็พยายามคัดค้านโดยวิธีต่าง ๆ ผมในฐานะประธานกรรมาธิการก็หนักใจมาก เพราะเสนออะไร ทุกมาตราถูกแก้หมด ผมเลยใช้วิธีง่ายๆ วิธีหนึ่ง มาตราไหนมีใครคัดค้านมาก ๆ ผมก็ยกไว้ก่อนไว้พิจารณาทีหลัง พอถึงวันสุดท้ายของการพิจารณา ผมก็ไปหาพบผู้แทนราษฎรที่เป็นนายทุนของแต่ละพรรค และไปขอร้อง บอกว่า ช่วยมานั่งหน่อยได้ไหมวันนี้ พอนายทุนพรรคมานั่งแล้วเนี่ย คนที่ตั้งญัตติต่าง ๆไว้ถอนหมดเลย ไม่มีใครพูดสักคน ทำให้กฎหมายผ่านมาได้”

อีกเรื่องเล่า คือ เมื่อย้อนไปยุคที่ถูกย้ายมากรมสรรพสามิตใหม่ ๆ ในฐานะผู้ควบคุมโรงงาน ต้องออกตรวจโรงงานสุราที่มีอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศในยุคนั้น สภาพโรงงานไม่ค่อยสะอาด บางจังหวัดหลังคาปูด้วยใบตองตึง และเมื่อก่อนโรงงานสุราจะมีคอกสุกรอยู่ข้าง ๆ เสมอ เพราะจะเอากากส่าจากเหล้ามาเลี้ยงหมูทำให้อ้วนเร็ว แล้วกากส่าเหล้านี่เหม็นมาก เหม็นไปไกล

“ที่รู้เพราะเคยต้องไปตรวจโรงงานสุราจังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นรถไฟประมาณ 6 โมงเย็น จะถึงบุรีรัมย์ประมาณตี 2-3 ก็เกรงว่าจะไม่ตื่น ก็บอกเจ้าหน้าที่รถไฟว่าก่อนถึงบุรีรัมย์ชั่วโมงหนึ่งปลุกผมด้วยนะ ผู้แทนราษฎรคนหนึ่งที่นอนใกล้ห้องผมบอกว่า ไม่ต้องบอกเจ้าหน้าที่หรอก เพราะจะได้กลิ่นจากกากส่า ก็ตื่นทันที คือความเหม็นจากกากส่าไกลเป็นชั่วโมงทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม สมัยตนเป็นอธิบดี ปี 2525 ก็มีปรับปรุงโดยการรวบรวมโรงงานสุราทั้งหมดทั้งประเทศให้เหลือแค่ 12 โรง เพื่อจะสร้างแต่ละโรงให้ใหญ่ขึ้น จะได้ทันสมัยขึ้น

“เมื่อก่อนเราเป็นกรมเล็กแต่มีความสำคัญพอสมควร เพราะสมัยนั้นแม้ฝิ่นเพิ่งเลิกไป แต่เราก็ยังมีฝิ่นขายอยู่ แล้วผมเป็นคณะแรกที่มาอยู่ตึกหลังนี้ที่สร้างเมื่อปี 2512 ตรงวัดแก้วฟ้า ห้องทำงานของผมอยู่ติดกับเมรุของวัดนะครับ แล้วใต้ถุนของผมเนี่ย เป็นน้ำขังและมีปลาด้วย เพราะฉะนั้นเรานั่งทำงานไปด้วย บางทีก็ปลาก็กระโดดอยู่ใต้ห้องนี้นะครับ”

นายสมใจนึก เองตระกูล
นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตเล่าที่มาของการเปลี่ยนเครื่องแบบกรมสรรสามิต ว่า ด้วยความที่เติบโตมาในสายปราบปรามของกรมศุลการ จึงเข้าใจคนที่อยู่สายปราบปรามเป็นอย่างดี เพราะเดิมฝ่ายปราบปรามกรมศุลกากรใส่เครื่องแบบสีกากี พอเข้าไปในเขตปาดังเบซาร์ ถูกโจรจีนยิงตายหมด เพราะคิดว่าเป็นทหารเรือ ฉะนั้น การมีเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของหน่วยงานเป็นสิ่งจำเป็น

“สำหรับที่กรมสรรพสามิต ที่เปลี่ยนเพราะมีการร้องเรียน เดิมเครื่องแบบของกรมสรรสามิตจะเป็นสีกากี มีดาวสีทองคล้ายของทหาร แต่ก็ไม่ใช่ทหาร ตำรวจก็ไม่ใช่ เวลาไปพื้นที่ชาวบ้านก็งง เอ๊ะคุณคือตำรวจ หรืออะไร จึงคุยกันระหว่างผู้บริหาร ทำให้มีเครื่องแบบ 2 สี คือสีน้ำเงินและสีขาวไว้ใช้ในงานพิธี มีบ่าอินเตอร์เนชั่นแนลที่เป็นขีด และมีนกวายุภักษ์ พอได้รูปแบบแล้วก็ต้องขอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี สมัยนั้น คือ นายชวน หลีกภัย ท่านบอกว่าจะเซ็นให้เป็นเครื่องแบบสุดท้าย ไม่ให้มีการเปลี่ยนอีก เพราะต้องการให้ทุกคนแต่งเครื่องแบบพลเรือน ก็ต้องอ้างเหตุผลต่าง ๆ ว่า เป็นฝ่ายปราบปราม ต้องมีเครื่องแบบให้คนแยกแยะออกว่ามาจากหน่วยงานไหน ท่านจึงอนุญาตลงนามเข้า ครม.”

“ศานิตย์ ร่างน้อย” อธิบดีสรรพสามิต ‘จําเป็น’

นายศานิตย์ ร่างน้อย
นายศานิตย์ ร่างน้อย จากลูกหม้อกรมสรรพสามิต ที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดี แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 – 24 มกราคม 2550 หรือประมาณ 2 เดือนเศษ แต่ก็ใช้ชีวิตราชการในกรมสรรพสามิตวางรากฐานระเบียบต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยเล่าว่า ไม่เคยคิดรับราชการ และต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ พอดีกรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานเดียวที่ให้ทุนเรียนปริญญาโท ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา พอสอบได้ไปเรียนแล้วกลับมาก็ได้เจอผู้ใหญ่ไปให้ช่วยเรื่องน้ำมัน เรื่องโรงงานสุรา ทำให้มีส่วนอย่างมากในการปรับปรุงให้เป็นโรงงานที่มีมาตรฐาน

“ผมโชคดีที่ได้มีผู้บังคับบัญชาหลายท่านนะครับที่ช่วยสอน ผมเป็นคนตั้งใจทํางาน แล้วก็ช่วยเหลือผู้ใหญ่ งานทุกเรื่องผมค่อนข้างจะศึกษาแล้วก็เข้าใจอะไรหมด จนไต่เต้าได้เป็นอธิบดีสรรพสามิตจําเป็น แม้จะระยะสั้น แต่ก็ภูมิใจนะครับที่เป็นลูกหม้อสรรพสามิตจริงๆ ฉะนั้น ก็บอกพวกเราว่า อย่าเพิ่งไปท้อใจ อนาคตอยู่ที่เราเอง ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะทํางานให้ดี ก็ไปได้ทุกที่ ไม่แพ้ใครนะครับ”

นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม
นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต ที่เติบโตจากกรมชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มาเป็นอธิบดีกรมจัดเก็บภาษี คือกรมสรรพสามิต เล่าว่า ที่นี่มีทั้งเรื่องวิชาการและเรื่องการปราบปราม ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งคู่

“ด้วยมุมที่ไม่ใช่มาเป็นนักจัดเก็บ ทำให้มาถึงฟังหลายเรื่องก็งงเหมือนกัน ตอนแรกเข้ามา กฎระเบียบต่างๆ ทำให้มีรายงานมาเป็นตั้ง ถามเจ้าหน้าที่มีใครอ่านบ้าง ก็บอกว่า ไม่มี สิ่งแรกที่ทำ คือ เลิกรายงานต่าง ๆ ที่กรมไม่เคยใช้ออกหมด ประชุมวันแรกจำได้ว่า เลิกไปกว่า 10 ฉบับ ต่อมาก็มาทำเรื่องสมาร์ทออฟฟิศ เพื่อให้การบริการที่ดี รวดเร็ว มีการใช้ระบบสแกนแบบในซูเปอร์มาร์เก็ต มาสแกนเอกสารจากเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าระบบ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม บทบาทของกรมสรรพสามิตต่อไปจะเปลี่ยนจากการเก็บภาษีบาป มาเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต มีบทบาทมากสำคัญและเป็นแนวทางของโลก อย่างภาษี CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป จึงหวังว่ากรมสรรพสามิตจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้เป็นภาษีที่ทันสมัย

“สมชาย พูลสวัสดิ์” โครงการรถคันแรก

นายสมชาย พูลสวัสดิ์
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ รับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต วันที่ 1 ตุลาคม 2555-30 กันยายน 2560 ในยุคความผันผวนทางการเมือง โดยนายสมชาย ยอมรับว่า เป็นการบริหารราชการภายใต้แรงกดดันทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ก็ประทับใจความมีน้ำใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้นใน 3 เรื่อง เริ่มจาก 1.นโยบายรถคันแรก ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.2 ล้านรายทั่วประเทศ 2. การจัดระเบียบร้านเหล้าสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 3. การยกร่างพ.ร.บ.สรรพสามิต ที่มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน เป็นการปรับปรุงและรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะสำเร็จ

“อยากจะย้ำว่า ความสำเร็จทั้งหมดมาจากความสามัคคีของคนในกรมสรรพสามิต อย่างโครงการรถคันแรก ที่เป็นโครงการใหม่ ต่อเนื่องด้วยรัฐบาลที่มีความขัดแย้ง เราก็ต้องบริหารความขัดแย้งนี้ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะตอนนั้น การลงทะเบียนรถยนต์คันแรก เฉพาะใน กทม. วันละร่วมหมื่นรายนะ ผมมาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 มาถึงน้อง ๆ อยู่กันเต็มแล้ว บางคนมาตั้งแต่ตี 3 ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขหลายอย่าง เป็นรายละเอียดที่ยุ่งยากมาก เป็นโครงการที่ตั้งโดยนโยบายทางการเมืองที่เราต้องมาสานต่อ ทำระเบียบต่าง ๆ ให้รัดกุม ต้องมีการประชุมกันตลอด แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันทุกวัน”

พร้อมบอกว่า “ผมเองก็ได้รับแรงกดดัน จะมาจับอธิบดีออกไปพูด แต่ว่าปิดโครงการไม่ได้ พี่น้องประชาชนต้องมาลงทะเบียนมาติดต่อเรื่องรถยนต์คันแรกเนี่ยวันนึงหลายพันคน จะปิดได้ยังไง มีคนมาด่าว่า มีอดีตรัฐมนตรีนำทัพมาปิดถนน แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นมาด้วยดี และแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของพวกเราที่รับผิดชอบในหน้าที่ของกรม”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ มารับตำแหน่งและสานต่อพ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ทำให้หลายเรื่องต้องดำเนินการใหม่ โดยเฉพาะวิธีการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ที่นอกจากจะต้องเปลี่ยนวิธีจัดเก็บแล้ว จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผลกระทบคือ รายได้ข้ามปีจะหายไป และที่น่าชื่นชม คือ ห้องไอที ของกรมที่สามารถมอนิเตอร์โรงงานน้ำมันได้หมดทุกแห่งจากห้องนี้ เป็นระบบที่ดีมาก

“ต้องขอบคุณชาวสรรพสามิต ขอบคุณอดีตอธิบดีทั้งหลายที่พัฒนากรมสรรพสามิตมาจนถึงวันนี้ ทำให้รายได้จากภาษีน้ำมันเป็นอันดับ 1 หรือปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท แม้จะถูกดึงภาษีน้ำมันออกไปจากลิตรละ 5 บาท เหลือ 1 บาทก็ตาม อีกตัวหนึ่งที่ผมชอบมาก คือภาษีบุหรี่ สนุกในการไปตอบคำถามทุกเวที เพราะมีคนร้องไปทั่ว เนื่องจากเคยขายอยู่ซองละ 72 บาท แล้วราคาลดลงเหลือ 60 บาท จะเหลือก็เพียงเรื่องสแตมป์สรรพสามิตที่มีหลายรูปแบบมาก ทำอย่างไรให้มีรูปแบบน้อยลง ถูกลง และทำอย่างไรให้สามารถติดตามได้จากแสตมป์ว่า บริษัทซื้อไปเมื่อไหร่ สินค้าชนิดไหน ถูกชนิดถูกตัวหรือเปล่า โดยสมัยที่เป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เจรจาขอให้ธปท.พิมพ์แสตมป์ให้ เนื่องจากราคาถูกกว่าเอกชนที่ราคาค่อนข้างสูง ธปท.ก็ยอมทำให้ครั้งหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่า Tปท.จะถ่ายทอดความรู้ให้กับโรงงานไพ่ เพื่อให้โรงงานไพ่มาพิมพ์แสตมป์ให้กรม ซึ่งไม่รู้ว่าขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหน แต่เข้าใจว่า รูปแบบแสตมป์จะลดน้อยลง และมีคิวอาร์โค้ดแล้ว ถือเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ”

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังระบุให้กรมต้องทำเรื่องราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งทะเลาะกันอยู่นาน เพราะสินค้าเดียวกันขายกันหลายราคาและต่างกันมาก เข้าใจว่า ตอนนี้มีกำลังทำเรื่องราคาไวน์ การมีราคาแนะนำจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นก็เก็บขวดละ 1 พันบาทไม่ว่าจะเป็นไวน์แบรนด์ไหน

ลวรณ แสงสนิท เอ๊ะ ภาษีไวน์-รถยนต์ไฟฟ้า

นายลวรณ แสงสนิท
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง มาในฐานะอดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตในช่วงโรคโควิดกำลังระบาด กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้ทำ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือการจัดเก็บภาษีไวน์ ที่สนใจเรื่องไวน์เพราะสัปดาห์แรกที่มาเป็นอธิบดี ก็ได้รับรายงานผลการจัดเก็บรายได้ พบว่า กรมสามารถจัดเก็บภาษีเบียร์ ได้ปีละ 8 หมื่นล้านบาท ภาษีเหล้า 6 หมื่นล้านบาท แต่ต้องมาเอ๊ะกับตัวเลขจัดเก็บภาษีไวน์ ที่ได้เพียง 1.5 พันล้านบาท แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่ เพราะคนไทยบริโภคไวน์เยอะ ก็พบว่า มาจากปัญหาหลากหลาย ทั้งในเชิงยี่ห้อ ทั้งในเชิงปีผลิต ไวน์ยี่ห้อเดียวกัน ผลิตคนละปี ราคาก็แตกต่างกัน

“วิธีแก้ปัญหาของกรมตอนนั้นคือ กำหนดอัตราที่สูงเอาไว้ ผมจึงตัดสินใจสร้างฐานข้อมูลราคาไวน์ และจัดเก็บอัตราไม่ต้องสูงเพื่อจูงใจให้คนที่อยู่ใต้ดินมาเสียภาษี เพราะเชื่อว่าคนที่อยู่ใต้ดินมีมากกว่าคนที่อยู่บนดิน คนบนดินเองก็ยัง under declare อีก ถ้าอัตราภาษีน้อยเขาไม่รู้จะหลบเลี่ยงภาษีทำไม ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมภูมิใจช่วงอยู่กรมสรรพสามิต อีกเรื่องคือการสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า ที่ตอนนั้นความสำเร็จจะอยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่กรมจะให้ โดยใช้ประสบการณ์เรื่องรถคันแรกมาออกแบบใหม่ แทนที่จะดีลกับคนซื้อล้านกว่าคน ไม่สนุกแน่ ก็ดีลกับผู้ค้าที่มีหลักสิบรายแทน และถ้าทำเรื่องรถไฟฟ้าอย่างจริงจังจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยจากที่เคยเป็นฮับรถยนต์เครื่องยนต์ แต่ต้องกล้าแลก นี่เป็นสิ่งที่ผมพูดกับรัฐบาลในวันนั้น และเป็นที่มาของการให้ส่วนลดเป็นแสนบาท และลดภาษีด้วย ทำให้วันนี้รถไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทยได้ มีการลงทุนตามเงื่อนไข นี่คือสิ่งที่ปลดล็อกไว้ คือให้ลองทำตลาดรถไฟฟ้าก่อน กำหนดยอดขายที่ต้องมาตั้งโรงงาน เพราะตั้งโรงงานเมื่อไหร่ก็หนีไม่ได้แล้ว”

“การมาทำงานที่กรมสรรพสามิตทำให้พบจุดแข็งที่นี่ คือ คนของกรมที่มีความสามัคคี และพร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายเต็มที่ แตกต่างจากส่วนราชการอื่นที่เคยอยู่มาที่จะมีอาณาเขตของใครของมัน แต่กรมสรรพสามิตเวลามีปัญหาแล้วโยนลงไปตรงกลาง ทุกคนพร้อมจะมาช่วยกันแก้ปัญหา นี่คือจุดแข็งมาก ไม่เคยเห็นในองค์กรไหน นอกจากนี้ ที่นี่มีระบบการใช้เทคโนโลยีที่ดี มีการเปลี่ยนผ่านมาสู่เทคโนโลยีที่เป็นดิจิตอล แต่ก็ยังสามารถอัพเกรดให้ดีขึ้นอีกจากพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว”

“สมชัย ฤชุพันธ์” ต่อสู้ ‘ยุบ’กรมสรรพาสามิต

นายสมชัย ฤชุพันธ์
ปิดท้ายด้วยนายสมชัย ฤชุพันธ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิตระหว่างปี 2539-2542 เรียกได้ว่ารับตำแหน่งได้ 6 เดือน ก็เจอกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เวลานั้นมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทลดค่าจาก 28 บาทต่อดอลลาร์ มาเป็น 54 บาทต่อดอลลาร์ ธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปิดกิจการกันมากมาย รัฐบาลไทยต้องขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และนำไปสู่การทำโปรแกรมกับไอเอ็มเอฟที่ตั้งเงื่อนไขให้ไทยต้องทำอะไรที่ยากลำบาก เป็นการรัดเข็มขัด

โดยเรื่องหนึ่งที่ไอเอ็มเอฟขอ คือ การยุบกรมสรรพสามิต ช่วงที่ผมเป็นอธิบดี จึงเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ว่ากรมสรรพสามิตจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งขณะนั้น คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลัง พอรับฟังความเห็นของเอ็มเอฟแล้วก็มาเสนอว่าจะยุบกรมสรรพสามิต แล้วเรียกผมไปหารือ ผมบอกว่าเราไม่อยากยุบ เพราะกรมนี้ตั้งมานานแล้ว มีเอกลัษณ์ของตนเอง มีภารกิจสำคัญและความเชี่ยวชาญในการเก็บภาษีที่เรียกว่า ภาษีตามสภาพ ไม่ใช่ภาษีตามราคานะครับ เราไปนับขวด นับลิตรนับน้ำมัน และจัดเก็บได้ผลดี การมีองค์กรเช่นนี้ดีมาก เหมือนที่หลายคนพูด องค์กรนี้มีความเป็นระบบ มีวินัย พร้อมจะร่วมมือกันทำทุกอย่างอย่างจริง ทำให้การจัดเก็บได้ผล แม้จะระบบภาษีนี้จะเปลี่ยนไปเยอะก็ตาม อย่างกรมสรรพากร บางคนบอกว่าการจัดเก็บจะลดลงไปมาก แต่กรมสรรพสามิต ผมเห็นว่า ยังเก็บได้เพิ่มอยู่ และหลังจากเจรจากับรัฐมนตรีคลังแล้ว เราก็รอด

นายสมชัย กล่าวว่า อีกช่วงที่อยากพูดถึง คือ ช่วงท้ายของการเป็นอธิบดี จะต้องมีการประมูลโรงเหล้า ที่มีการผูกขาดโดยรัฐ เดิมรัฐเป็นผู้ผลิต และดำเนินการขาย ภายหลังมีการนำโรงเหล้าไปประมูลให้เอกชนมาดำเนินการทุก 4 ปี แต่ตอนนั้นมีนโยบายใหม่ คือ เปิดเสรีการผลิตเหล้า

“แต่ก่อนกรมสรรพสามิตเก็บภาษีบาป เช่น เหล้า เบียร์ และสินค้าฟุ่มเฟือย มาถึงวันนี้ได้พัฒนามาในแนวทางที่ถูกต้อง คือ เรื่อง ESG เป็นเทรนด์ที่สำคัญของโลก ประเทศใดไม่ปรับตัวจะแข่งขันไม่ได้ บทบาทนี้จึงเป็นบทบาทสำคัญ หากกรมพัฒนาด้านนี้ได้ จะช่วยเหลือประเทศไทยไม่เฉพาะในด้านการหารายได้ แต่จะทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันในโลกได้ด้วย”

ในช่วงท้ายของงาน นายอรัญ ได้เป็นตัวแทนของอดีตอธิบดีสรรพสามิตทุกท่านกล่าวถึงกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน “ผมได้เขียนหนังสือภาษีสรรพสามิต โดยมีคำอธิบายถึงสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และสินค้าที่มีเหตุผลพิเศษ ซึ่งในวันนั้นยังคิดไม่ถึงในสิ่งที่ท่านอธิบดี ดร. เอกนิติ ทำอยู่ในขณะนี้ ในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม และคิดไม่ถึงว่ากรมสรรพสามิตจะเดินมาถึงจุดสูงสุดของความเป็นกรมจัดเก็บภาษี ที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและช่วยโลกอยู่รอด”

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวปิดท้ายงานเสวนา ว่า “กรมสรรพสามิต 92 ปี ก้าวแห่งความมั่นคง ก้าวสู่กรม ESG” ซึ่งกรมสรรพสามิตจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากตามที่ประเทศไทยได้ประกาศกับโลกว่าเราจะลดคาร์บอน ด้วยมาตรการภาษีจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่สิ่งที่ได้ประกาศไว้ โดยกรมสามารถจัดเก็บภาษีคาร์บอนและยังมีในเรื่องอื่นๆอาทิ ในเรื่องของ BCG ที่สามารถเอาเอทานอลมาทำไบโอพลาสติกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก นโยบายของอดีตอธิบดีทุกท่านเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้กรมสรรพสามิตสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ทุกท่านยังให้ความสำคัญกับคน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ โดยกรมให้ความสำคัญยกระดับมาตรฐานด้านการทำงาน รวมถึง เก่ง ดี มีความสุข พร้อมกับเดินหน้าในเรื่องสรรพสามิตคุณธรรม เพื่อนำพาองค์กรแห่งนี้ให้มั่นคงยั่งยืนสืบไป”

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://thaipublica.org/2024/03/92nd-anniversary-of-the-excise-department/