APEC 2022 เป็นวาระการประชุมครั้งใหญ่ในประเด็นทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ “ประเทศไทย” จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งโลกในปัจจุบัน นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคิดต่อว่า โลกของเราจะสามารถพัฒนา พร้อมๆ การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดใช้ทรัพยากรโลก ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมรูปแบบเดิมๆ ที่ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก รวมไปถึงการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตอย่างมหาศาล จะซ้ำเติมให้ภาวะโลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การจัดประชุมครั้งนี้จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่
APEC 2022 ได้นำแนวคิดจัดประชุมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Green Meeting” คือการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ต่อยอดจากแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เพื่อทำแนวคิดนี้ให้เป็นจริง บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้จับมือกับกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนในเรื่องการจัดเตรียมอุปกรณ์ (Green Arrangement) นำกระดาษรีไซเคิลที่พัฒนาให้แข็งแรง มาออกแบบด้วยความเชี่ยวชาญ ให้ใช้งานได้หลากหลาย ติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ เอามาจัดทั้งนิทรรศการและตกแต่งสถานที่จัดกิจกรรม APEC 2022 ตลอดทั้งปี
การพัฒนาจาก SCGP ในครั้งนี้ เริ่มจากโจทย์การนำกระดาษมาออกแบบเป็นวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับการประชุมต่าง ๆ ที่ใช้งานได้ตลอดทั้งปี หรือประมาณ 14 ครั้ง มีน้ำหนักเบา ขนย้ายง่าย ติดตั้งได้เร็วกว่านิทรรศการแบบเดิมถึง 2 เท่า พร้อมการออกแบบที่สวยงามสะดุดตาอีกด้วย
โดยชิ้นงานจากกระดาษรีไซเคิลนี้ช่วยลดพลังงานในการขนส่ง ลดต้นทุนจากการติดตั้งได้รวดเร็ว ไม่ต้องใช้คนติดตั้งจำนวนมาก ตอบโจทย์ทั้งผู้จัดงานและการช่วยดูแลโลก หากทุกงานอีเวนต์หันมาใช้กระดาษรีไซเคิลนี้ก็จะมีส่วนช่วยลดขยะจากการจัดงานได้อย่างก้าวกระโดด
หลังเสร็จสิ้นการใช้งาน กระดาษรีไซเคิลนี้ยังนำไปใช้ซ้ำได้อย่างยั่งยืน เช่น แบ็คดรอปถ่ายรูปที่เป็นกล่องตั้งเรียงกันสามารถนำมาใช้เก็บของได้ ซึ่งเป็นความตั้งใจของนักออกแบบที่อยากให้ใช้งานได้หลากหลาย รวมถึง SCGP Recycle โซลูชันจัดการวัสดุเหลือใช้จาก SCGP จะนำกระดาษทั้งหมดจากงานนี้ไปผลิตเป็น ‘ชั้นวางหนังสือรักษ์โลก’ ส่งต่อให้น้องๆ ในโรงเรียนที่ขาดแคลน ได้อีกด้วย
แนวคิด Green Meeting ลดการสร้างขยะได้จริง ไปจนถึงอาจไม่มีขยะเกิดขึ้นเลย เป็นการออกแบบที่คิดมาแล้วตั้งแต่ต้นจนจบ ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้เป็นอย่างดี
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.facebook.com/NationalGeographicThailand/posts/pfbid031dJw6RkBJr58reCYTW2LARqGAeNhBgTzM5SViedKnWVGt4NJmqk9j1tXoUpM77mal