Search
Close this search box.

คืนลมหายใจให้ว่าวชายแดนใต้ สร้างกระแส Soft power ‘ว่าวบูรงนิบง’ ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมของ จ.ยะลา

share to:

Facebook
Twitter

จนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าภาพจำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นภาพของดินแดนที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ทำให้คนต่างถิ่นไม่กล้าที่จะเดินทางเข้าไปยัง 3 จังหวัดนี้ ทั้งที่พื้นที่ปลายด้านขวานของไทยนี้ รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากร วัฒนธรรม วิถีชีวิตและผู้คนที่เป็นมิตร น่าเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อซึมซับความสุขในดินแดนนี้อย่างมาก โดยเฉพาะ จังหวัดยะลา ที่เป็นต้นกำเนิดของทุนพหุวัฒนธรรมอันหลากหลาย น่าศึกษาเรียนรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ภูมิปัญญาว่าวชายแดนใต้ อย่าง ว่าวเบอร์อามัส หรือ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “ว่าวเทวดา”

 

 

นอกจากจะมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจแล้ว ยังมีลวดลายและสีสันที่สวยงาม สื่อถึงวัฒนธรรมของภาคใต้ได้อย่างชัดเจน ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้เอง ที่ทำให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หยิบมา สืบสาน ฟื้นฟู รักษา ต่อยอดทุนวัฒนธรรมภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม ว่าวบูรงนิบง

โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการขยายผลองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ในการทำว่าว พลิกฟื้นเรื่องเล่าที่สูญหายในพื้นที่ ตลอดจนกรรมวิธีการทำว่าว ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และส่งต่อสู่ลูกหลานเป็นการสืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้

 

 

ทั้งนี้ ภายในงาน มหกรรมการแข่งขันว่าวนานาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม “ว่าวบูรงนิบง” สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา โดยคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นอกจากจะมีการแข่งขันว่าวครั้งปฐมฤกษ์ของยะลาแล้ว ในงานนี้ยังมีการจัดนิทรรศการและการแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับ ว่าวเบอร์อามัส หรือ ว่าวบูรงนิบงในหลากหลายมิติ ทั้งประวัติความเป็นมา ไปจนถึงการนำลวดลาย สีสัน และความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของว่าวพื้นเมืองชนิดนี้มาต่อยอดสู่การออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้า ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดยะลาได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ทำความรู้จัก ว่าวเบอร์อามัส ว่าวทองแห่งดินแดนมลายู ต้นทางของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากทุนวัฒนธรรมของ จ.ยะลา

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บอกเล่าเพิ่มเติมถึง ว่าวเบอร์อามัส ว่า “ว่าวเบอร์อามัส หรือว่าวบูรงนิบงเป็นที่รู้จักในนามว่าวทองแห่งมลายู ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยว่าวเบอร์อามัสยังถูกเรียกขานด้วยว่าเป็นว่าวทองหรือว่าวเทวดา ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะคล้ายกับรูปของเทวดาที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเต็มยศ โดยว่าวเบอร์อามัสเป็นว่าวที่มีที่มาจากคติความเชื่อของฮินดู-พราหมณ์ ถือเป็นตัวแทนบุญญาธิการของเทวดาที่แสดงถึงอำนาจและอิทธิฤทธิ์ที่สามารถบันดาลสิ่งต่าง ๆให้กับมนุษย์ได้ แม้กระทั่งความเจ็บป่วยที่มนุษย์ต้องประสบ เช่น ในอดีตมีการนำว่าวเบอร์อามัสมาวางทาบบนหลังผู้ป่วย เพื่อนำพาความชั่วร้ายออกไปจากร่างของผู้เจ็บป่วยด้วย”

 

ที่มาภาพและข้อมูล/อ่านเพิ่มเติมที่: https://www.salika.co/2024/04/25/yala-kite-to-soft-power-build-creative-economy/