Search
Close this search box.

ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 1)

share to:

Facebook
Twitter

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ผมเคยโพสต์ถึงเรื่องภาษีคาร์บอนที่จะมาเป็นตัวช่วยหลักในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วันนี้จะเริ่มมาลงรายละเอียดกันหน่อยนะครับ แต่คงจะมีอีกหลายตอน เพราะเรื่องมันเยอะนิดหนึ่ง

เรื่องการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นมาตรการอย่างหนึ่งทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศมันมีราคาต้องจ่าย (Carbon pricing) ซึ่งมีอีกวิธีที่ทำได้ และค่อนข้างเป็นที่นิยมมากกว่า ก็คือ การจำกัดโควต้าและให้ซื้อขายโควต้ากัน (Cap and Trade) ซึ่งสุดท้ายก็จะมีการซื้อขายคาร์บอนกันที่ตลาดกลางที่เป็นที่ยอมรับ ราคาก็จะขึ้นๆลงๆตามอุปสงค์อุปทานในขณะนั้น

เหตุที่วิธี Cap and Trade เป็นที่นิยมมากกว่าก็เพราะผู้ที่ต้องจ่ายราคาของคาร์บอนไม่อยากจะจ่ายเงินส่วนนี้ในรูป Carbon Tax เพราะเป็นการจ่ายทิ้งไปเลยแล้วก็ต้องไปขึ้นราคาสินค้ากับลูกค้าเอาเอง ในขณะที่ Cap and Trade จะเริ่มจากการที่รัฐบาลแจกโควต้าให้ผู้ที่ปล่อยมลพิษอยู่เดิมก่อน แล้วเอาโควต้านี้ไปซื้อขายกัน เงินจึงไม่ได้ออกจากกระเป๋าจริงๆ แถมยังมีโอกาสได้เงินมากขึ้นด้วยถ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจนปล่อยมลพิษได้น้อยลง จึงสามารถเอาโควต้าที่เหลือไปขายให้คนอื่นได้

ในอดีตการใช้ Cap and Trade ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการควบคุมการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะฝนกรด ราคาโควต้าปรับสูงขึ้นไปในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ลดลงมาหลังจากที่โรงงานทั้งหลายติดอุปกรณ์ดักจับก๊าซไปหมดแล้ว เพราะเทคโนโลยีมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องปรกติไป และการใช้นโยบาย Cap and Trade ก็ดูเหมือนจะได้ผลกับการเอามาควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าดูจากปริมาณการปล่อยที่ลดลงในยุโรปที่มีการบังคับใช้ CO2 Cap and Trade อย่างจริงจังมานานที่สุด

แต่การใช้ Cap and Trade ก็มีจุดอ่อนใหญ่สองประการคือ

หนึ่ง คือต้องมีประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายที่สูงมาก ไม่งั้นก็จะไม่สำเร็จ เพราะมีช่องทางให้ทุจริตง่ายมาก

สอง ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากๆก็จะย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศที่ไม่อยู่ใน Cap and Trade แล้วส่งสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาแทน จนเป็นที่มาของการมีมาตรการควบคุมข้ามพรมแดนหรือ Cross Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่กำลังจะเริ่มใช้กับสินค้าบางประเภทที่ส่งไปยุโรป ซึ่งก็จะมีจุดอ่อนเรื่องการตรวจสอบและบังคับใช้ข้ามประเทศเช่นกัน

ดังนั้น มาตรการ Cap and Trade จึงน่าจะใช้ไม่ได้ผลกับประเทศที่มีปัญหากับมาตรฐานและการบังคับใช้กฏหมาย ซึ่งก็คือประเทศส่วนใหญ่ในโลก เราจึงต้องอาศัยมาตรการแบบอื่นที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ดีกับทุกประเทศในโลกครับ

ส่วนมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน จริง ๆ ก็มีปัญหามากกว่า Cap and Trade เสียอีก ในแง่ของการบังคับใช้กฏหมายถ้าเราไปเก็บจากแหล่งที่ปล่อยก๊าซ เพราะมีการปล่อยออกมากมายหลายล้านจุด เราไม่สามารถจะตามไปเก็บภาษีจากทุกแหล่งที่ปล่อยได้หมด

ที่ผมเสนอจึงต่างออกไป คือไปเก็บตั้งแต่ต้นตอการผลิตเลย (Carbon Tax at Production) นั่นก็คือจากแหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซ และเหมืองถ่านหิน ขุดขึ้นมาจากใต้ดินเท่าไหร่ก็เสียภาษีเท่านั้น (รวมถึงส่วนที่ใช้เองในขบวนการผลิต ส่วนที่ปล่อยทิ้งหรือเผาทิ้ง และส่วนที่มีการรั่วไหลด้วย) โดยใช้สมมติฐานว่าไม่ช้าก็เร็วคาร์บอนพวกนี้ก็จะถูกใช้หรือเปลี่ยนสภาพจนกลายเป็นก๊าซ CO2 และปล่อยออกสู่อากาศในที่สุด ฉะนั้นเราก็เก็บภาษีตั้งแต่แรกขุดเลยก็แล้วกัน

ข้อดีของการเก็บจากต้นตอเหล่านี้ก็คือเขามีระบบเก็บข้อมูลทั้งหลายอยู่แล้วเพื่อใช้ในการซื้อขายและเก็บผลตอบแทนจากการสัมปทานหรือการแบ่งปันผลผลิตต่างๆ เราสามารถเก็บภาษีคาร์บอนจากข้อมูลตรงนั้นได้ไม่ยากเลย

 

 

ราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นก็จะถูกส่งผ่านมายังราคาสินค้าบริการต่างๆ ทำให้คนใช้ต้องประหยัดกันมากขึ้นเอง และก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยลงเอง

ส่วนเรื่องที่ประชาชนจะเดือดร้อนจากราคาไฟฟ้าราคาเชื้อเพลิงและราคาข้าวของที่จะแพงขึ้น เราสามารถบรรเทาปัญหาตรงนั้นได้ด้วยการเอาเงินภาษีที่เก็บได้ส่วนใหญ่มาคืนให้กับประชาชนทุกคนคนละเท่าๆกัน เช่น ถ้าไทยเราเก็บภาษีตัวใหม่นี้ได้ 300,000 ล้านบาทต่อปี เอามาแบ่งให้คนไทย 66 ล้านคน ก็จะได้กันคนละ 4,500 บาท สามารถโอนให้ผ่านแอปเป๋าตังเลยก็ได้หรือจะให้เป็นเงินดิจิทัลก็ได้ คนไทยทุกคนก็จะมีเงินตรงนี้มาชดเชยกับราคาของอะไรต่าง ๆ ที่จะแพงขึ้นมาจากการเก็บภาษีคาร์บอนตัวนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความพยายามในการประหยัด ในการรีไซเคิล ฯลฯ จะเกิดขึ้นมาเองจากราคาคาร์บอนที่แพงขึ้นโดยไม่ต้องไปเสียงบประมาณหรือเสียพลังไปรณรงค์อะไร เราก็แค่ปรับราคาคาร์บอนขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกคนมีการปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราก็จะลดลงไปเรื่อยๆเองครับ

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://thaipublica.org/2024/03/carbon-tax01/