Search
Close this search box.

กรมการพัฒนาชุมชน รุกหน้าผลักดันกระแสผ้าไทย สร้าง Soft Power ขยายฐานสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

share to:

Facebook
Twitter

วันนี้ (9 มิ.ย.66) เวลา 09.30 น.กรมการพัฒนาชุมชน จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้าและหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา รุ่นที่ 2 โดยมีนางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม จากจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม

ซึ่งภายในงานได้มีการแสดงชุดพิเศษจากโรงเรียนจักราชวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นำผ้าไทยสวมใส่ในการแข่งขันรายการชิงช้าสวรรค์ 2023 ถือเป็นการจุดประกาย ให้โรงเรียนในพื้นที่ ที่มีวงดนตรีลูกทุ่งได้สวมใส่ผ้าไทยในการแสดงโชว์ภูมิปัญญาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่สาธารณชน ถือเป็นการอนุรักษ์และขยายผลการสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ตามพระราชดำริผ้าไทยใส่ให้สนุกโดย นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายศิริชัย ทหรานนท์ และดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย รวมถึงได้จัดกิจกรรม workshop ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และคำชี้แนะแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน 6 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล โดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น

กลุ่มที่ 2 การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย โดย ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย

กลุ่มที่ 3 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดโดย อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์

กลุ่มที่ 4 การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) โดย นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG)

กลุ่มที่ 5 กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าโดย อาจารย์ ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์

กลุ่มที่ 6 การออกแบบแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้เป็นแฟชั่น และการแต่งกายให้เหมาะสมกับยุคสมัย กาลเทศะและช่วงวัย โดย นายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น

ทั้งนี้ นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมาได้ส่งเสริมให้กลุ่มทอผ้าจังหวัดนครราชสีมา ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการนำเอาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยและเทคนิคการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ร่วมสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย สอดคล้องกับโครงการพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุก อันถือเป็นการ Change for Good ให้กับผ้าไทย ตลอดจนผลักดัน “Soft power ผ้าไทย” จากจุดเล็กๆ อย่างเช่นวงดนตรีที่ทำการแสดงประกวด ให้ความเป็นไทยสู่สากลที่เกิดจากภูมิปัญญาของประชาชน ณ โรงแรมเซ็นเตอร์ พอยด์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230610002221728