1 ม.ค. 2566 – ในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ความน่าสนใจของกระแสรักษ์โลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกหยิบยกมาพัฒนากันในหลายประเด็น ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมหนักๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมรอง ภาคบริการ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของมนุษย์ ให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้ จนครอบคลุมปัจจัย 4 ที่พึงมี ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงยารักษาโรค ที่มีมุมมองและรูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนไป
“Go Green” หรือโก กรีน ศัพท์ใหม่ที่คนสมัยนี้รู้กันดีอยู่แล้วว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ถ้าให้สรุปง่ายๆ ก็คือการที่หน่วยงาน องค์กร หรือคนในสังคมมีเป้าหมายที่จะดูแลรักษาโลกและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลก โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน! การหันมาใส่ใจในกระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต หรือวิธีการใช้งาน การประยุกต์ใช้ และการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น เป็นเรื่องที่สนับสนุนแนวคิดโกกรีนทั้งสิ้น และในช่วงที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่ามีหลายองค์กรประกาศแผนการดำเนินงานแบบโก กรีน ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมเบาปรับตัวสู่ความยั่งยืน
กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยหลายด้านมีการปรับตัวกันทั้งสิ้น อย่างเช่น ด้านอุตสาหกรรมอาหาร ที่เกิดเทรนด์ใหม่อย่างอาหารเพื่อความยั่งยืน ในปีที่ผ่านมาการโฆษณาเกี่ยวกับอาหารแพลนต์เบสนั้นมีให้เห็นกันเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีรูปแบบการทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก แทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และหลายบริษัทพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตั้งเป้าให้นำมาทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ได้อย่างดีมากขึ้น อย่างเช่น เนื้อแพลนต์เบสที่เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร มีรูปแบบต่างๆ กัน คล้ายเนื้อ คล้ายหมู หรือคล้ายไก่ และอาหารแพลนต์เบสสำเร็จรูปที่มาในรูปแบบเรดี้ทูอีต สามารถทานได้ทันที
รวมไปถึงอีกหนึ่งแนวคิดที่ทำเป็นร้านอาหารแพลนต์เบสโดยเฉพาะ อย่างที่ร้าน alt.Eatery ได้ดำเนินการ โดยร้านดังกล่าวอยู่ภายใต้การร่วมทุนของบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ทำโรงงานอาหารโปรตีนจากพืช ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 3,000 ตันต่อปี และได้จัดตั้งร้าน alt.Eatery ขึ้นมาให้กลายเป็นคอมมูนิตี้แพลนต์เบส ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและเริ่มดำเนินงานด้านรักษ์โลก อย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ปัจจุบันกระแสของฟาสต์แฟชั่นกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผลกระทบที่สร้างมลภาวะให้โลก โดยต้องเข้าใจก่อนว่าการทำอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นเดิมมีการปล่อยน้ำเสียและสร้างมลภาวะให้กับสังคมอยู่แล้ว และยิ่งการที่แฟชั่นมีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการเร่งผลิตสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้ยิ่งกระทบไปยังโลกอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้เองในยุคนี้จึงเกิดคำนิยามใหม่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ นั่นก็คือ เซอร์คูลาร์แฟชั่น หรือการทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นเกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เป็น “แฟชั่นหมุนเวียน” ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีแนวทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต รวมไปถึงปัญหาหลักคือการลดใช้น้ำ และขั้นตอนในฝั่งของผู้ใช้ อย่างเช่น การยืดอายุของเสื้อผ้าด้วยการซ่อมแซม การรีไซเคิล และการอัปไซคลิงที่นำขยะ วัสดุเหลือใช้มาต่อยอดให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ขึ้นมา
ภาคบริการ ‘โก กรีน’
ที่ผ่านมา นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะดำเนินงานด้านรักษ์โลกอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมเบาที่กล่าวมาข้างต้น และไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะในมุมของภาคบริการเองก็มีแนวคิดที่จะโก กรีน เช่นเดียวกัน แม้กระบวนการทำงานจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่นัก แต่ก็ยังมีแนวคิดที่จะดำเนินงานอย่างชัดเจน อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS
ได้ร่วมภารกิจปลูกต้นไม้ล้านต้น ตามนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผ่านโครงการ AIS Go Green โดยปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนการปลูกต้นไม้ไปแล้ว 25,000 ต้น กับเป้าหมายการปลูกต้นไม้ให้ครบ 100,000 ต้นภายใน 4 ปี ซึ่งได้ส่งมอบและปลูกต้นไม้ในพื้นที่เป้าหมายของ กทม.แล้วในหลายพื้นที่ ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ, ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคก หนอง นา, โรงกำจัดขยะหนองแขม, พื้นที่สวนสาธารณะของสำนักงานเขตพญาไท
แม้กระทั่งธุรกิจด้านการเงิน ธนาคารเองก็เดินหน้าแผนงานรักษ์โลก อย่างเช่น คณะกรรมการธนาคารออมสินอนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินกว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน (Scope 3) ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นสากล
โดยนับจากนี้ไป ธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และเริ่มการใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผลคะแนน ESG Score จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพร้อมมอบส่วนลดดอกเบี้ย และ/หรืออนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แนวทางการลงทุนในธุรกิจรักษ์โลก
ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit 2023) ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม พร้อมแสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งหมายสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG การต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ตอบรับกระแสการลงทุนของโลกยุคใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน
และในประเทศไทยเองเห็นแนวโน้มที่เป็นรูปธรรมผ่านตัวเลขการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาตลอด ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2566 สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม BCG ของบีโอไอ พบว่า มีคำขอรับส่งเสริมฯ จำนวน 254 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 73,353 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นการลงทุนจริง พบว่ามีจำนวน 416 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 55,778 ล้านบาท
ไฟฟ้าสะอาดตอบสนองการลงทุนสมัยใหม่
หนึ่งส่วนที่สำคัญที่จะทำให้การลงทุนและพัฒนาธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม เป็นการโก กรีน ได้อย่างเต็มที่ที่สุดคือเรื่องของ “พลังงานไฟฟ้า” ต้องยอมรับเลยว่าไฟฟ้าเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่จะวัดค่าว่าธุรกิจนั้นหรืออุตสาหกรรมทั้งหมดอยู่ในข่ายรักษ์โลกหรือไม่ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องใช้ไฟ และหากไฟฟ้าที่นำมาใช้มาจากพลังงานเดิมที่ยังสร้างมลภาวะให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่จะมุ่งสู่แผนงานโก กรีน ก็อาจจะทำได้ไม่เต็ม 100% และยิ่งในปัจจุบันที่นักลงทุน บริษัทเอกชนระดับใหญ่ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ระบบไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาซึ่งการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่ ในงานสัมมนา “Go Thailand 2024: Green Economy-Landbridge โอกาสทอง?” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแนวโน้มการลงทุนในอนาคต และจากการที่ได้เดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ ร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี ยิ่งได้เห็นแนวโน้มของบริษัทชั้นนำของโลกต่างพูดถึงเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเรื่องหลักขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสีเขียว การใช้พลังงานสะอาด และการลดปล่อยคาร์บอนในด้านต่างๆ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการออกกฎระเบียบเพื่อผลักดันให้แผนงานนั้นเกิดขึ้นได้จริง อาทิ European Green Deal ในยุโรปเพื่อผลักดันเป้าหมายเน็ตซีโรในปี 2050 รวมทั้งมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า Inflation Reduction Act ของสหรัฐ Green New Deal ของเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategies ของญี่ปุ่น จึงทำให้มุมมองของนักลงทุนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามกัน
สอดคล้องกับที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม (วินด์) ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลจากเป้าหมาย Net zero ที่มีร่วมกันของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย นอกจากนี้ยังหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตาม อาทิ แผงโซลาร์และอุปกรณ์กังหันลม รวมถึงโครงข่ายไฟฟ้า (Grids) โดยตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของทั่วโลกยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 29% ต่อปี และทยอยเพิ่มบทบาทในการผลิตไฟฟ้าของโลก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจึงเห็นภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า เตรียมแผนลงทุนใหม่ๆ ไว้เพื่อจะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP เป็นตัวกำหนดมาโดยตลอด และแผนดังกล่าวมีการปรับปรุงอยู่เรื่อยมา ซึ่งล่าสุดที่กำลังเดินหน้าพัฒนาแผนฉบับใหม่อยู่ และคาดว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น
การลงทุนไฟฟ้าสีเขียว
ด้วยเทรนด์ที่กำลังมาแรง และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มการลงทุนพลังงานไฟฟ้าสะอาด หรือไฟฟ้าสีเขียวนั้นเพิ่มมากขึ้น และชัดเจนมาก จากปากของนักลงทุนในประเทศไทยหลายบริษัท อาทิ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ที่ได้วางเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ในปี 2050 โดยจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก แต่จะไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (renewable) จาก 20% เป็น 30% ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ลม แสงแดด พลังงานความร้อนใต้พิภพ และไบโอแมส
รวมถึงบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่เพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 12,000 เมกะวัตต์ (MW) หรือ 12 กิกะวัตต์ (GW) เป็น 15 กิกะวัตต์ในปี 2573 และยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย และตั้งเป้าว่าจะมีการชนะการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 30 กิกะวัตต์ หลังจากช่วงครึ่งแรกปี 2566 ได้ชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 2.2 กิกะวัตต์ จากที่เปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรวม 20 กิกะวัตต์
ขณะเดียวกัน การลงทุนในประเทศเองนั้นก็มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เป็นต้น.
ที่มาภาพและข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.thaipost.net/economy-news/510927/