Search
Close this search box.

พช.นครพนม รุกส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากต่อยอดความมั่นคงด้านอาหาร ยกระดับรายได้ของชุมชน “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครพนม อำเภอเมืองนครพนม สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเด่น เพื่อยกระดับเป็นสินค้าขั้นคุณภาพมาตรฐานระดับสูงหรือพรีเมี่ยม เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน

โดยความร่วมมือจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเด่น มหาวิทยาลัยนครพนม และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย สถาบันระหว่างประเทศ เพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มาสนับสนุนการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นภายใต้เงื่อนไข BCG โมเดล มีกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มละ 3 คน รวม 30 และเจ้าหน้าที่/วิทยากร รวมทั้งสิ้น 50 คน เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 10 ผลิตภัณฑ์ใหม่ มีสาระสำคัญโดยสรุป

1. การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมกับกลุ่ม/บุคคล (ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน/สินค้า OTOP) จำนวน 10 กลุ่มผู้ประกอบการ (ที่มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูป) ประกอบด้วย

1.1 กลุ่มชาถั่วดาวอินคา อำเภอบ้านแพง
1.2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านห้วยไห อำเภอโพนสวรรค์
1.3 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน
1.4 กลุ่มเครือข่ายสับปะรด อำเภอโพนสวรรค์
1.5 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเห็ดบ้านธาตุน้อย (อินทรายุธฟาร์ม) อำเภอธาตุพนม
1.6 กลุ่ม ข้าวแต๋น พรเจริญ อำเภอเมืองนครพนม
1.7 กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาบ้านยางงอย อำเภอศรีสงคราม
1.8 กลุ่มแปรรูปผลผลิตโคก หนอง นา อำเภอปลาปาก
1.9 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารสองคอนพัฒนา อำเภอนาแก
1.10 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดงยอ อำเภอธาตุพนม

2. การพิจารณาใช้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้รองรับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

3. กลุ่มฯ นำเสนอรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Value chain = ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง) ให้คณะอาจารย์/ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะ ถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นคุณภาพมาตรฐานระดับสูงหรือพรีเมี่ยมตามที่ตลาดต้องการ

4. สร้างเครือข่ายเพิ่มเติมแบบจตุภาคี (รัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน)

5. กำหนดแผน สร้างกลไกการบริหารจัดการ ติดตาม และประเมินผล ณ ที่ตั้งของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 10 ดำเนินการตามกระบวนงานและขอบเขตของงานจ้าง (Terms of Reference : TOR) ห้วงระยะเวลา 120 วัน

6. ผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นและองค์ความรู้ BCG โมเดล จะถูกนำมาแสดงและจำหน่ายในงานเทศกาล Nakhonphanom Winter Festival ท่องเที่ยวฤดูหนาวส่งท้ายปี 66 นี้

โดยนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ประกอบการ 10 ผลิตภัณฑ์ มีนางสาวพันสี คุณธรรม ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางวรนุช กรุงเกต ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสาววิมล มุ่งกลาง ผอ.กลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนักวิชาการพัฒนาชุมชนทั้งจังหวัดและอำเภอ เป็นสักขีพยานการลงนามฯ และเอื้ออำนวย สนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจรภายใต้ BCG โมเดล เพื่อยกระดับรายได้ของชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดนครพนม ที่จังหวัดนครพนมอนุมัติงบประมาณให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ทั้งสิ้น 1,969,700 บาท ดำเนินการจ้างผู้เชี่ยวชาญและกำหนดขอบเขตของงานจ้าง (Terms of Reference : TOR) เพื่อค้นหา พัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด “สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำน้อยได้มาก เสริมความมั่นคงด้านรายได้ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเพิ่มมูลค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231007075859473