นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาคอีสานตอนกลางนับเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศไทย เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตร โดยเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นาจำนวนมาก คือ “ฟางข้าว” ภาครัฐจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมูลค่า ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร และการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
สศท.4 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ทรัพยากรในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรและผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว รวม 187 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สินค้าข้าวที่มีการจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ที่ผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/66 และข้าวนาปรังปี 2565 จำนวน 147 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป/ ผู้รวบรวม จำนวน 20 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 20 ราย ได้มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าว
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.59 นำมาแปรรูปเป็นฟางก้อนโดยจ้างบริการทางการเกษตรเครื่องอัดฟางเพื่อเก็บไว้ขายหรือใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 30.42 จำหน่ายในลักษณะเหมาไร่ให้แก่ผู้รวบรวม/แปรรูป ร้อยละ 10.81 ไถกลบฟางข้าวในนาเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย และร้อยละ 0.18 นำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์โดยตรง (ไม่อัดก้อน) โดยเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าจากการขายฟางข้าวอัดก้อนเฉลี่ย 319 – 353 บาท/ไร่
ผู้รวบรวมฟางข้าว/กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป ให้บริการแปรรูปอัดก้อนฟางข้าว ค่าบริการ 8 – 15 บาท/ก้อน (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตามขนาดก้อนฟาง และรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกรและผู้รวบรวม/แปรรูปรายอื่น โดยรับซื้อแบบอัดก้อน ราคา 20 – 35 บาท/ก้อน และแบบเหมาไร่ ราคารับซื้อ คิดตามปริมาณฟางข้าวที่อัดก้อนได้ ราคา 1 – 1.50 บาท/ก้อน
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.agrinewsthai.com/news/114337