Search
Close this search box.

เท้าเทียมไดนามิกส์ ทางเลือกใหม่ของผู้พิการขาขาด นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย ต้นทุนถูกกว่า 5 เท่า ใช้จริงแล้วใน รพ.ภาคอีสาน

share to:

Facebook
Twitter

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการขาขาดจำนวน 39,647 คน และกว่า 95 % ของผู้พิการขาขาดใช้เท้าเทียมที่ด้อยคุณภาพ น้ำหนักมาก และไม่มีข้อเท้า ทำให้เดินได้ไม่ดี ส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ


จากข้อมูลข้างต้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คิดค้นพัฒนา เท้าเทียมไดนามิกส์ คุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น สามารถงอเท้า เก็บพลังงานในเท้าเทียมได้ ทำให้มีแรงส่งขณะเดิน ตัวเท้าทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบา แข็งแรง ผู้พิการสวมใส่แล้วสามารถเดินในพื้นที่ขรุขระ ออกกำลังกาย และวิ่งเหยาะๆ ได้เหมือนคนปกติเลยทีเดียว
เท้าเทียมนี้ได้ผ่านการทดสอบความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนี และได้รับการรับรองมาตรฐานการบริหารคุณภาพ ISO 13485 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังได้ขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จัดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงการจดอนุสิทธิบัตร และขึ้นทะเบียน Thai SME-GP เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยการขอใบรับรอง Made in Thailand และการรับรองมาตรฐานสากล CE Marking

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ ทางเลือกใหม่ของผู้พิการขาขาดว่า ได้ทำการทดสอบเท้าเทียมไดนามิกส์ด้านคลินิกกับผู้พิการ 20 ราย
ผลปรากฎว่าได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก ผู้พิการใช้ระยะเวลาปรับตัวให้คุ้นชินประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเท้าเทียมที่พัฒนาขึ้นมานี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบคุณสมบัติและสมรรถนะของเท้าเทียมไดนามิกส์นำเข้าที่มีการขายในท้องตลาดพบว่ามีคุณสมบัติและสมรรถนะเท่าเทียมกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าการนำเข้าถึง 5 เท่า ทำให้สามารถลดการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทางด้านกายอุปกรณ์ซึ่งมีราคาสูงมากได้
นอกจากนี้ การนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และยังสามารถขยายการผลิตไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้ สร้างโอกาสการส่งออกและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การเป็นอาจารย์วิศวกรรมศาสตร์แต่มีความสนใจที่อยากจะจับงานวิจัยด้านการแพทย์ ทำให้ รศ.ดร.ไพรัชต้องศึกษาหาความรู้ข้ามศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการทำงานศาสตร์เดียวแล้วจะนำไปประยุกต์ใช้งานให้ได้งานที่ดีนั้นเป็นไปได้ยากมาก
เท้าเทียมไดนามิกส์

“การพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ต้องมีทั้งแพทย์ นักกายอุปกรณ์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามศาสตร์ ทำให้ได้องค์ความรู้ที่ครบถ้วน ส่งผลให้การพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้งานได้จริงตามมาตรฐานสากล รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ผลิตอวัยวะเทียมจนประสบความสำเร็จใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ในการช่วยเหลือผู้พิการขาดขาดให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตเท่าเทียมกับคนปกติได้” รศ.ดร.ไพรัช กล่าวเสริม
เท้าเทียมไดนามิกส์นี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อจัดทำโครงการกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการภายใต้โครงการฉลิมพระเกียรติ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้มีการนำเท้าเทียมไดนามิกส์จำนวน 67 ขา มอบให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาลกว่า 13 แห่ง ปัจจุบันผลงานเท้าเทียมไดนามิกส์อยู่ในระหว่างการเสนอเข้าสู่ภายใต้สิทธิ์การรักษาของรัฐบาล เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น
ซึ่งล่าสุด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิก sPace คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการในโรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลสุรินทร์
เท้าเทียมไดนามิกส์

ในโอกาสนี้ นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวถึงการดูแลประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10 และของจ.อุบลราชธานี ที่จะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลว่า มีจำนวนประชากรร่วม 4-5 ล้านคน ซึ่งยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดภาระและเพิ่มโอกาสทางสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เข้ารับบริการการดูแลสุขภาพ และขอขอบคุณทาง วช. จุฬา และมหิดล ที่ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมมามอบให้กับทุกโรงพยาบาลในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ล่าสุด “เท้าเทียมไดนามิก sPace” ยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และได้ผ่านการทดสอบตามมาตรการสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนี และทำการทดลองทางด้านทางด้านคลินิกโดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ผลงานวิจัยฝีมือนักวิจัยไทยชิ้นนี้ เป็นวัสดุอุปกรณ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ ซึ่งในปีนี้ วช. ได้กำหนดการส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส sPace ทั่วทุกภูมิภาค และได้ติดตามประเมินผลการใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผน และการผลักดันเข้าสู่ระบบสุขภาพต่อไป

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/31/prosthetic-feet-thai-innovation/