วันนี้ 15 มีนาคม 2566 เวลา 8 นาฬิกา 30 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2566 จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ และภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการ ระหว่างวันที่ 15 และ 16 มีนาคม 2566 ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะสูงวัยที่ดี” เพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่ความก้าวหน้าของความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์และผลงานวิจัย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย รวมทั้งมีการมอบทุนส่งเสริมการวิจัยทางด้านโภชนาการในมนุษย์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค Nestle Nutrition Research Award ประจำปี 2566 และมอบรางวัลนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่มีผลงานดีเด่นด้านโภชนาการ Ajinomoto Young Researcher Award ประจำปี 2566
โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดการประชุม ความว่า “ปัจจุบันประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัจจัยประการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ คืออาหารที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย มีประโยชน์และสร้างภูมิต้านทานโรค ซึ่งต้องอาศัยหลักวิชาโภชนาการที่ให้ความรู้เรื่องอาหารที่เหมาะสม สารอาหารที่จำเป็น หรือสัดส่วนของอาหารที่ควรได้รับ การที่ผู้สูงอายุได้รับการดูแลเป็นอย่างดีในเรื่องโภชนาการ ร่วมกับกิจกรรมด้านอื่น จะช่วยให้ผู้สูงอายุ มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ไม่เจ็บป่วย และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และในปัจจุบัน วิชาการโภชนาการ เผยแพร่กว้างขวางยิ่งขึ้น ทำให้มีนวัตกรรมด้านอาหารผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุทั่วไป”
จากนั้น ทรงฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะสูงวัย” จากนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ที่กล่าวถึงแนวการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมโภชนาการผู้สูงวัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 บริบท ได้แก่ ลักษณะและประเภทของนวัตกรรม นวัตกรรมของรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และระบบนวัตกรรมของการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะสูงวัย
หัวข้อเรื่อง“การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy” บรรยายโดยนายวรรณพ วิเศษสงวน นำเสนอถึงการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ให้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีโภชนาการที่ดี โดยมีเป้าหมายที่ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ อาหารเดิม อาหารใหม่ และ อาหารท้องถิ่น และการบรรยายเรื่อง”ความท้าทายด้านโภชนศาสตร์ต่ออาหารในอนาคต และอาหาร เพื่อสุขภาพ ” โดยรองศาสตรจารย์ชลัท ศานติวรางคณา ได้กล่าวถึงความท้าทายของระบบอาหารในปัจจุบัน ที่จะต้องไม่กระทบต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ/ข้อมูล :