Search
Close this search box.

มนร. ใช้ชุดความรู้เพิ่มคุณภาพให้ ทุเรียนแปรรูปเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พร้อมต่อยอดเป็นโมเดลยกระดับ เศรษฐกิจฐานราก ได้จริง

share to:

Facebook
Twitter

ต้องยอมรับว่าการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก เป็นการดำเนินการที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศไทยให้หลุดพนจากกับกักรายได้ปานกลาง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งที่สุดแล้ว ย่อมช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างตรงเป้า

โดยการให้ความสำคัญกับ เศรษฐกิจฐานราก ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแสวงหาโอกาสและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง เพราะวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SEMs) ต่างก็ได้รับผลจากวิกฤตครั้งนี้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและเปราะบางอย่าง จังหวัดนราธิวาส
นราธิวาส พื้นที่นำร่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการเดินหน้าพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก ในวิสาหกิจชุมชนแปรรูปทุเรียนกวน
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นตัวแทนของภาคใต้ชายแดน ตามประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยพิจารณาคัดเลือกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมของกลไกการพัฒนาพื้นที่และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานต่อเนื่อง

และกลุ่มผู้ประกอบการภาคเกษตรในจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและควรได้รับการเข้าไปพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดทั้งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาและมีความพร้อมในการรองรับการพัฒนามากที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการฐานรากการแปรรูปผลผลิตเกษตรจากทุเรียน โดยเฉพาะในอำเภอเจาะไอร้องซึ่งเป็นพื้นที่แปรรูปทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปทุเรียนกวน
ซึ่งแน่นอนว่ากำลังสำคัญของการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการทุเรียนแปรรูปในพื้นที่ปลายด้ามขวาน นั่นคือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) จึงได้จับมือกับภาคเครือข่าย เดินหน้าโครงการวิจัยพัฒนาตัวแบบเชิงรุกและการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะวิกฤตของกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากแบบมีส่วนร่วมในจังหวัดนราธิวาส โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่วิจัยพัฒนาชุดความรู้ยกระดับคุณภาพทุเรียนกวน ช่วยผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียนเจาะไอร้อง สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่

ผศ.ดร.บงกช กมลเปรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
รับรู้ที่มาและกลไกของโครงการวิจัย มนร. ช่วยยกระดับวิสาหกิจชุมชนแปรรูปทุเรียนกวน เจาะไอร้อง นราธิวาสได้อย่างตรงเป้า
ผศ.ดร.บงกช กมลเปรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาตัวแบบเชิงรุกและการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เปิดเผยว่า
“แรงจูงใจของงานวิจัยโครงการนี้ เกิดจากพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการแปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนกวนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนใต้ ประสบปัญหาทุเรียนกวนคุณภาพต่ำ มีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้ขายไม่ได้ราคา อีกทั้งยังขาดทักษะการจัดการที่ถูกต้อง”
“ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินกระบวนการวิจัย โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนจำนวน 10 กลุ่มแล้วจัดเวทีประชุมทำความเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน และวิเคราะห์ความต้องการ ปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบการฯ วิเคราะห์ศักยภาพและความพร้อมของกลุ่ม เพื่อออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาบนความสอดคล้องกับเงื่อนไขข้อจำกัดของกลุ่มผู้ประกอบการฯ”

ผศ.ดร.บงกช กล่าวว่าในการดำเนินกระบวนวิจัยพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาอยู่ที่กรรมวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และกระบวนการผลิตทุเรียนกวนที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการบริหารจัดการ จึงได้พัฒนาชุดความรู้ถ่ายทอดแก่กลุ่มผู้ประกอบการฯ โดยสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่
“และหัวใจสำคัญของการผลิตทุเรียนกวนคุณภาพ ที่จะช่วยให้ขายได้ราคาดี เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเนื้อทุเรียนที่ดี ปราศจากการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งทีมวิจัยได้ถ่ายทอดชุดความที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก ด้วยการนำเนื้อทุเรียนไปผ่านกระบวนการนึ่งฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียก่อนนำไปกวน และในขั้นตอนการกวน ต้องกวนให้เหลือความชื้นน้อยที่สุด แล้วนำผึ่งให้เย็น ก่อนจะบรรจุใส่ภาชนะจำหน่าย ภายใต้กระบวนการผลิตดังกล่าวจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนคุณภาพดี เก็บรักษาได้นานขึ้น และขายได้ราคาดีขึ้น”

หัวหน้าโครงการวิจัยฯกล่าวด้วยว่า คณะวิจัยยังได้ถ่ายทอดชุดพัฒนาทักษะการจัดการทางการเงิน และการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ แก่กลุ่มผู้ประกอบการฯ และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน
“นอกจากนั้น ยังมีการถ่ายทอดความรู้และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการทุเรียนแปรรูปที่ ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง ให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน บริหารห้องเย็น สำหรับเก็บรักษาเนื้อทุเรียน เพื่อยืดอายุเนื้อทุเรียนก่อนการนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นทุเรียนกวนด้วย”
ผศ.ดร.บงกช เน้นย้ำว่ากระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าวช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากการขายทุเรียนกวนดีขึ้น และมีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลดีต่อกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีขึ้นในชุมชน รวมทั้งมีนวัตกรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชนและสังคมต่อไป

สุมน แวยะโก๊ะ และสามี ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนมิงทุเรียนกวน
ด้าน สุมน แวยะโก๊ะ วิสาหกิจชุมชนมิงทุเรียนกวน หนึ่งในวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม ด้วยการถ่ายทอดชุดความรู้จากโครงการนี้เปิดเผยว่า
“ในปี 2566 เมื่อมีการก่อตั้งวิสาหกิจ ทางวิสาหกิจก็รับซื้อเนื้อทุเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งหมด 50 ตัน โดยรับซื้อกิโลกรัมละ 60-80 บาท โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เนื้อทุเรียน 10 กิโลกรัม เมื่อกวนแล้วจะได้ และจำหน่ายในราคากิโลกรัม 350 บาท แต่ก็ยังเจอกับปัญหาที่ผลผลิตทุเรียนกวนนั้นเก็บไว้ไม่ได้นาน แต่หลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการวิจัยของ มนร. และทางวิสาหกิจได้นำไปปรับใช้ ก็ช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการ มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากการขายทุเรียนกวนดีขึ้น มีสินค้าขายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้นทั้งในประเทศและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงช่องทางออนไลน์ด้วย”

“นอกจากนั้น เมื่อมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน บริหารห้องเย็น สำหรับเก็บรักษาเนื้อทุเรียน ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่นี่มาก เพราะแต่ก่อนต้องนำเนื้อทุเรียนไปแช่ห้องเย็นที่ จ.ปัตตานี ทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น และใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นบางครั้งเนื้อทุเรียนก็เสียไม่สามารถนำมากวนได้ แต่พอมีห้องเย็นที่สร้างขึ้นในตำบลบูกิตนี้ สามารถเก็บได้ 30 ตัน จะคิดค่าเช่าในเดือนแรก 3 บาทต่อกิโลกรัม และในเดือนถัดไปค่าเช่าจะบวกเพิ่ม 1.5 บาทต่อกิโลกรัม”

บางส่วนบางตอนในบทสรุปผู้บริหารที่จัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลโครงการวิจัยฯ นี้ ระบุความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลากหลายด้านของผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียนใน ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ว่า
“การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนในโครงการการแปรรูปทุเรียนจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมโดยรอบ โดยรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียนและสมาชิกในกลุ่มแปรรูปทุเรียนจะมีผลต่อรายได้ของครัวเรือนในชุมชน ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นในชุมชน ส่งผลให้เกิดกระแสเศรษฐกิจในชุมชนที่ดีขึ้น ในด้านความรู้และทักษะ ได้มีการอบรมด้านการผลิต การตลาด การบัญชี และการจัดการด้านการเงินมีผลต่อความรู้และทักษะของผู้ประกอบการและสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งอาจส่งผลให้พัฒนาอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ด้านความสัมพันธ์ ในการทำงานร่วมกันในกลุ่มและการใช้เวลาร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นตามไปด้วย”

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/27/use-research-to-unlock-durian-sme-in-narathiwat/