Search
Close this search box.

สหกรณ์กุ้งฯ “ปากพนัง” ตั้งเป้าใช้ FTA ส่งออกมาเลย์

share to:

Facebook
Twitter

“กุ้งขาว” หนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกในปี 2565 รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในจังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งขาวจำนวนมาก จึงพยายามผลักดันสมาชิกเกษตรกรกว่า 740 ราย ที่มีบ่อเลี้ยงกุ้งกว่า 1,200 บ่อ นำไปสู่การเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออก

โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสทางการค้า จึงอยากจะผลักดันส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ สู่ตลาด การค้า FTA” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดการส่งออกให้กับเกษตรกรและสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนเกษตรกรและสหกรณ์ให้สามารถพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์แข่งขันและจำหน่ายได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ลงพื้นที่พบปะหารือให้คำแนะนำกับเกษตรกร และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีศักยภาพและเข้มแข็ง จำหน่ายกุ้งสดในพื้นที่ และส่งออกไปจังหวัดข้างเคียง อีกทั้งส่งออกไปตลาดมาเลเซียในรูปแบบผ่านพ่อค้าคนกลาง

สำหรับช่วงที่กุ้งมีปริมาณมากล้นตลาด ทางกลุ่มจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คือกุ้งนิ่ม กุ้งหวานน้ำตาลจาก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างรายได้มากขึ้น ปัจจุบันเทรนด์การค้าโลกให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Green Economy Hub ที่มีเรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) และ BCG Model (Bio-Economy, Circular Economy, Green Economy) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า และกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดนิ่งและติดตามสถานการณ์การค้าทั้งภายในประเทศและตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและความต้องการของตลาด ปี 2565 ไทยส่งออกกุ้งขาวแวนนาไมและผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปมีมูลค่าทะลุ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นผู้ส่งออกอันดับ 6 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 3 โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าวที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า FTA ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรจากทุกประเทศ ยกเว้นอินเดีย จึงเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการที่ได้แต้มต่อด้านราคา เมื่อเทียบกับสินค้าที่มาจากประเทศคู่แข่ง

นายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิก ก่อตั้งเมื่อปี 2550 มีสมาชิกทั้งหมด 740 ราย มีบ่อกุ้งรวม 1,200 บ่อ มีผลผลิต 20,000 ตันต่อปี ซึ่งในกลุ่มมีการเลี้ยงกุ้งขาวประมาณ 95% และกุ้งกุลาดำ 5%

โดยผลผลิตส่งไปขายพ่อค้าคนกลาง เพื่อส่งเข้าห้องเย็น และส่งให้พ่อค้าคนกลาง เพื่อส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สำหรับกุ้งขาว ตลาดในประเทศค่อนข้างไปได้ดี ส่วนกุ้งกุลาดำยังประสบปัญหาเนื่องจากขนาดไซซ์บางครั้งไม่ได้ตามความต้องการของตลาด

ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบปัญหาแหล่งน้ำ เนื่องจากลำคลองตื้นเขิน ส่งผลให้แหล่งน้ำไม่สมบูรณ์ ต้องเพิ่มแร่ธาตุในน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผู้ประกอบการสามารถประครองธุรกิจได้ แต่บางรายขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 180-220 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ราคากุ้งขายได้ 195 บาทต่อกิโลกรัม ได้กุ้งประมาณ 30 ตัว นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ก็มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งนิ่ม กุ้งหวานน้ำตาลจาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องการตลาด

“ผลผลิตของเราส่วนใหญ่จะรวบรวมให้พ่อค้าคนกลาง เพราะมีปริมาณมาก สามารถต่อรองราคาได้”

ผลผลิตของสหกรณ์ส่วนใหญ่ขายตลาดภายในประเทศ แต่ยังประสบปัญหาเรื่องการทำตลาด เพราะราคาต้นทุนสูง เรื่องการส่งออกสู้ราคาประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ ตอนนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำให้สะอาด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงกุ้ง และจะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง

โดยเฉพาะช่วงโรคระบาด มีการพูดคุยกับทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าทางสหกรณ์อยากส่งออกมาเลเซีย ปี 2567 เพราะตอนนี้ภาษีนำเข้า-ส่งออก 0% ซึ่งก็อยากส่งออกประเทศอื่น แต่ต้องมีโรงงานและมาตรฐานที่ดี เกษตรกรยังไม่มีทุนมากพอที่จะตั้งโรงงานเองได้

“ต่อไปในอนาคตทางสหกรณ์ก็มีเป้าหมายที่จะส่งออกกุ้งขาวไปตลาดมาเลเซีย ถ้าหากส่งออกได้ทางเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกิโลละ 20 บาท การรวมกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราก็ไม่อยากให้อาชีพผู้เลี้ยงกุ้งล่มสลาย ก็พยายามเข้าถึงภาครัฐและสะท้อนปัญหา ซึ่งต้องเข้าใจว่าบางทีถ้าเราไม่สะท้อนปัญหาภาครัฐก็อาจจะมองไม่เห็น”

ที่มาภาพและข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1467131