ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาการขับเคลื่อนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นอีก 1 ผลงานของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามแผนประเทศ
“ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในหลายประเทศของโลกที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกระดับการดำเนินงานมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี 2065 หรืออีก 42 ปี ตามที่ได้ประกาศไว้บนเวทีการประชุม COP 27 โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านพลังงานและขนส่ง การจัดการขยะและน้ำเสีย ปรับปรุงการปลูกข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนภาคการผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อใช้ในกระบวนการดูดซับก๊าซคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตร่วมกับภาคเอกชน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาไทยได้รับผลกระทบการจากเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเป็นอันดับต้นๆของโลก แม้ไทยเป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 19 ของโลก หรือร้อยละ 0.8 เท่านั้น
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลเตรียมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีมาตรการรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งการผลิตภายในประเทศ และการส่งออก สำหรับการบังคับใช้มาตรการ CBAM สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย และอลูมิเนียมก่อนจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 รวมทั้ง จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว สนับสนุนการใช้หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์และการวัดพลังงานสุทธิ และเพิ่มสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าภายในประเทศ ส่วนภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ไทยจึงนำร่องโครงการสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสำหรับการทำนา เพราะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) โดยรัฐบาลจะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม
———————- เสียง —————————
ด้าน นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ผ่านมาตรการปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า
———————- เสียง —————————
สำหรับ “คาร์บอนเครดิต” คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) // ก๊าซมีเทน (CH4) // ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) // ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) // ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) // ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ซึ่งไทยเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2545 ที่ให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สมัครใจได้
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231114140018695