Search
Close this search box.

พลิกชะตา 800 ชีวิต บนเกาะกลางแม่น้ำตากใบ จ.นราธิวาส ปลดล็อค ปัญหาความยากจน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนปลายด้ามขวานไทย ด้วยโครงการวิจัย มนร.

share to:

Facebook
Twitter

จากการสำรวจของ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) ในปี 2564 พบว่ามี ปัญหาความยากจน เกิดขึ้นที่ อำเภอเมือง จ.นราธิวาส มีจำนวน 6 ตำบล และ 1 เทศบาล แต่กลับพบครัวเรือนยากจนเป้าหมายถึง 2,131 ครัวเรือน เป็นจำนวนคนจน (จปฐ.) 8,097 คน จำนวนคนจน (จปฐ.) ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 2,473 คน และจากผลสำรวจนี้เอง ที่ชี้วัดว่า อำเภอเมือง จ.นราธิวาส เป็นอำเภอที่มีการกระจุกตัวของคนจนสูงสุดในจังหวัด

เมื่อโจทย์ของ ปัญหาความยากจน ชัดเจน จึงเป็นที่มาของโครงการ “ต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนราธิวาส” โดยทีมวิจัย มนร. ซึ่งเป็นการประยุกต์องค์ความรู้ทุกด้านที่ทางมหาวิทยาลัยมีไปสร้างทักษะอาชีพ แก้ ปัญหาความยากจน ให้กับชาวนราธิวาสอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.
ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องที่ทางทีมนักวิจัยได้นำโครงการการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” คือ พื้นที่บนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เกาะที่ถูกลืม” และโดนปล่อยให้จมอยู่กับ ปัญหาความยากจน มาเนิ่นนานหลายทศวรรษ

สะท้อนภาพจริงของ ปัญหาความยากจน จากชุมชนที่ถูกลืมบนเกาะกลางแม่น้ำตากใบ จ.นราธิวาส
หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า ปัญหาความยากจน ในฉากทัศน์ที่ “อยู่อย่างยากลำบาก” และมี “ชีวิตที่แร้นแค้น” ที่ชาวบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซู ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ต้องเผชิญหน้าเป็นอย่างไร
จากการพูดคุยกับ รูฮานี ยูโซ๊ะ ประธานกลุ่มแปรรูป (เกาะหัวใจเกื้อกูล) ชาวบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูที่เกิดที่นี่ เธอเล่าให้ฟังว่า ความยากจนที่เกิดขึ้นที่นี่ เกิดจากหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการเดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเมื่อได้เงินมาก็ต้องนำกลับมาใช้จ่ายในปัจจัยที่จำเป็น จนยากที่จะเหลือเงินเก็บออม
ส่วนสภาพความเป็นอยู่นั้น เกาะปูลาโต๊ะบีซู แม้จะห่างจากฝั่งไม่ไกลแค่ 500 เมตร นั่งเรือข้ามฟากเพียงแค่ 15 นาที แต่เพราะไม่มีถนนตัดถึง ชาวบ้านที่นี่กว่า 800 ชีวิต ต้องใช้ชีวิตแบบตัดขาดจากโลกภายนอก

รูฮานี ยูโซ๊ะ (คนถือไมค์) ประธานกลุ่มแปรรูป (เกาะหัวใจเกื้อกูล)
แถมสิ่งที่เป็น “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” คือ ชาวบ้านที่นี่ต้องดำรงชีวิตแบบปราศจากน้ำจืด ในการอุปโภค บริโภค มีเพียงบ่อน้ำจืดกลางหมู่บ้านที่มีน้ำเพียงน้อยนิด ทำให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนส่วนใหญ่ในเกาะแห่งนี้ต้องดื่มน้ำกร่อย ที่ไม่ดีต่อสุขอนามัยมากนัก หรือถ้าใครพอมีเงินหน่อย ก็สามารถซื้อน้ำดื่มขวดใหญ่ที่ต้องจ่ายในราคาแพงกว่าการซื้อบนฝั่งถึง 2 เท่า ทำให้ในแต่ละเดือนค่าน้ำที่จ่ายไปกลืนกินเงินที่หามาได้ จนแทบไม่มีเงินเก็บออม
สิ่งที่ดีที่สุด ที่ชาวบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูได้รับ คือ การได้รับเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ในแต่ละเดือน ทว่า ในยามที่ขัดสนขาดแคลนจริงๆ หรือในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ก็ต้องพึ่งพา กู้หนี้ยืมสินจากเหล่านายทุน ที่บางคนก็คือพ่อค้าที่มารับซื้อกุ้ง หอย ปู ปลา ที่พวกเขาหาได้ ด้วยสภาพที่ชาวเกาะปูลาโต๊ะบีซูต้องเผชิญนี้เอง ที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ยากที่จะลืมตาอ้าปากหรือหลุดพ้นจาก ปัญหาความยากจน

นอกเหนือจาก ปัญหาความยากจน ที่เกาะกินชุมชนนี้แล้ว จากการสำรวจของทีมนักวิจัยจากโครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์” ภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” พบว่าชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะนี้ยังประสบกับปัญหาสัตว์ทะเลที่จับได้ถูกลดค่าลงถึงร้อยละ 23.90
โดยปัญหานี้เกิดจากตัวชาวประมงพื้นบ้านเองที่สมัครใจ นำสัตว์ทะเลที่จับได้ไปขายให้นายทุนด้วยเหตุผล “ติดหนี้บุญคุณ” ในราคารับซื้อที่ต่ำกว่าราคาที่รับซื้อตามท้องตลาดทั่วไป ยกตัวอย่าง ปลากระบอกที่ขายให้นายทุน ก็จะขายแค่กิโลกรัมละ 40 บาท ขณะที่ราคารับซื้อทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-70 บาท โดยระยะเวลาเป็นหนี้บุญคุณนี้ เฉลี่ยถึง 10 ปี ต่อครัวเรือน คิดเป็นหนี้บุญคุณที่ยืมมาทั้งหมดเฉลี่ย 14,406 บาท ต่อครัวเรือน

ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
จากปัญหาสู่ปฏิบัติการแก้จนพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ด้วยโครงการวิจัย มนร. & บพท.
ทั้งนี้ จากการเดินทางลงพื้นที่ เกาะปูลาโต๊ะบีซู ในปี 2564 ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซูจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์” และทีมนักวิจัยพบว่าสภาพแวดล้อมของชุมชนมีความเสื่อมโทรม เพราะไม่มีการบริหารจัดการขยะที่ดี
นอกจากนั้น สมาชิกในแต่ละครอบครัวส่วนใหญ่ที่อยู่ในบ้านบนเกาะจะเป็นแม่บ้าน เพราะสามีและลูกต้องไปทำงานที่ต่างถิ่น หรือในประเทศมาเลเซีย ขณะที่ คนในชุมชนส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาความยากจนข้นแค้น ทำให้ไม่มีใครพึ่งพาใครได้ในชุมชน และขาดไร้ซึ่งการช่วยเหลือจุนเจือกันอย่างที่ควรจะเป็น
ผศ.ดร.ธมยันตี และทีมนักวิจัยจึงได้ลงพื้นที่เพื่อเดินหน้าโครงการวิจัยฯ โดยเริ่มจากการลงสำรวจเก็บข้อมูลบนเกาะอย่างละเอียด และออกแบบกระบวนการแก้ไขความยากจนและปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ เพื่อช่วยแก้ไขความยากจน ปลดเปลื้องปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่
ควบคู่ไปกับการพูดคุยของความร่วมมือจากผู้มีอุปการะคุณที่เป็นแหล่งเงินแก่ชาวเกาะ ผ่อนปรนให้ชาวเกาะนำสินค้าประมงบางส่วนมาแปรรูปแล้วรวมกลุ่มกันจำหน่าย แทนการต้องนำสินค้าประมงทั้งหมดไปส่งมอบให้เพื่อลดหนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีอุปการะคุณที่เป็นแหล่งเงินทุกราย

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/16/stop-poverty-model-at-narathiwat/