องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลักหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าควายน้ำพื้นที่ทะเลน้อย” เป็นมรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทยแล้ว
จากกรณีที่คณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( FAO ) ได้ลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้นในการตรวจประเมินพื้นที่ “ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย “ เพื่อพิจารณาให้การรับรองเป็นมรดกโลกทางการเกษตร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจาก FAO ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับ FAO ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจัดทำเอกสารเสนอ GIAHS เพื่อเสนอขอรับการรับรองเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร โดยได้เสนอให้จัดทำเอกสารข้อเสนอพื้นที่ “ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เพื่อพิจารณาให้การรับรองเป็นมรดกโลกทางการเกษตรนั้น
โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมถึงวิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกรท้องถิ่นที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลากว่า 250 ปี ของ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง” ตลอดจนต้องการยกระดับการปกป้อง อนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบาย BCG และ SDGs จึงได้ดำเนินการยื่นเอกสารข้อเสนอ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง” เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อเดือนตุลาคม 2564
โดยการพิจารณามีหลักเกณฑ์ของพื้นที่ GIAHS ทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่
1.ความมั่นคงอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ดี
2.ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร
3. ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม
4. วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม
5. ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล
ซึ่งต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อ ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ของ FAO ได้ประกาศให้ “การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) แห่งแรกของประเทศไทย
การขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลกในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ที่ต้องการอนุรักษ์แนวทางการทำการเกษตรที่มีแต่ดั้งเดิมเพื่อส่งต่อทรัพยากรทางการเกษตรให้แก่คนรุ่นถัดไป โดยมีเป้าหมายหลักคือการรักษาระบบนิเวศเชิงเกษตรให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในชุมชน
นอกจากนี้ GIAHS ยังเน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ GIAHS เกษตรกร ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียจะได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยชุมชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นการขึ้นทะเบียนในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221107154147866