ประเทศไทย แสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกอนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ และการแบ่งปันผลประโยชน์กลับสู่ชุมชน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ บนเวทีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15)
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) ช่วงที่ 2 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นความสำคัญความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อสนับสนุนกลไกทางการเงิน เทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะที่เป็นปัจจัยสำคัญหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2030 ส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีธรรมชาติสมบูรณ์ภายในปี 2050 ตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2020 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างยกร่างแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับที่ 5 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , BCG model และกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2020 ที่มุ่งเน้นการรองรับร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม การส่งเสริมกิจกรรมและวิธีปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวย้ำว่า การประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกว่า 140 ประเทศ , เอกอัครราชทูต และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 คน ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์การสนับสนุนงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2020 ซึ่งจะเป็นแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกต่อจากแผนกลยุทธ์ความความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายไอจิที่สิ้นสุดลงเมื่อปี 2020 โดยมุ่งเน้น 4 เรื่องสำคัญ คือ การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ที่มีมาตรการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ การฟื้นฟู และการลดปัจจัยด้านลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ // การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ บรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการแพร่ของโรคระบาด // การแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในรูปแบบตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินที่มาจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสุดท้าย การเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221218144144132