กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ผนึกกำลังกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา ร่วมกันจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุม บางแสนเฮอริเทจ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วยครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จำนวน 80 โรงเรียน รวม 160 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างสมรรถนะด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) ให้แก่ “คุณครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้ ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่หลักสูตรในสถานศึกษาต่อไป
การอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต้อนรับ
และ คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย คุณวรพจน์ สิงหราช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวรายงาน
จากนั้น ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเปิดการอบรม
เริ่มการอบรมเชิงปฏิบัติการด้วย การบรรยายพิเศษ แนวทางการจัดการเรียนการสอน ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development : ESD) โดย คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
และการบรรยายและฝึกปฏิบัติการ หัวข้อ การจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย ผศ.ดร.กฤษฏิพัทธ์ พิชญะเดชอนันต์ และ ดร.กฤตอร จิววะสังข์ สาขาวิชาการจัดการการบริการการท่องเที่ยวและไมซ์ (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีลักษณะและสอดคล้องกับ BCG Economy ความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วิธีการวิเคราะห์การท่องเที่ยวกับผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และนำเสนอกรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน การออกแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นภาพมากขึ้น
กิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการบรรยายใน หัวข้อ การประยุกต์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (Data Science) คือ ศาสตร์การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ผ่านวิธีการต่างๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดเก็บ จัดการ และวิเคราะห์ ไปจนถึงการนำเสนอข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ออกมาในรูปแบบของข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านธุรกิจและด้านอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ด้านการศึกษา ธุรกิจอาหาร และ การท่องเที่ยว โดย ดร.ปัฐมา กระต่ายทอง นักวิจัย ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.
ต่อด้วย กิจกรรมการแนะนำการทำงานและการต่อยอดการใช้งาน “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม” การจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และท่องเที่ยวในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งนวนุรักษ์เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านการศึกษา การท่องเที่ยว การสร้างนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และบริการในท้องถิ่นให้ยังสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดย คุณวัชชิรา บูรณสิงห์ และทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการอบรมได้ลงมือฝึกปฏิบัติการใช้งานแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ บนแพลตฟอร์ม เช่น การใช้งานระบบบริหารจัดการ การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว/ระบบนำชม, การทำอุปกรณ์ Hologram และการทำ content สำหรับงาน Hologram เป็นต้น
สำหรับวันที่ 2 ของการอบรม เริ่มด้วย กิจกรรม Design Thinking Workshop การสร้างสตอรี่ข้อมูลท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ให้สามารถจับต้องได้ มีเรื่องราว และเกิดการพัฒนาเป็น Story of Product ที่สัมผัสได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ สำหรับ Vlogger เพื่อสร้าง Content Creator เตรียมพร้อมก่อนลงพื้นที่จริง กับ กิจกรรม “งานสื่อที่สร้างสรรค์ กับเครื่องมือที่สร้างเสริม” โดย อาจารย์ชัยวุฒิ รื่นเริง รองคณบดีฝ่ายบริหาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์สื่อสารสร้างสรรค์ คณะนิเทศศาสตร์ และทีมวิทยากรจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ในช่วงบ่ายวันที่ 2 ของการอบรม คณะครูผู้เข้าร่วมการอบรมได้เดินทางลงสถานที่ฝึกปฏิบัติการกรณีศึกษา เพื่อเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อสร้างนวัตกรรมท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ๆ ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล และ ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับเกียรติจาก ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล พร้อมด้วย ดร.พัชรี ทองอำไพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร และ คุณจิรศักดิ์ แช่มชื่น หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ ให้การต้อนรับ และแนะนำภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ฯ
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม ลงมือฝึกปฏิบัติการนำข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ มาเชื่อมโยงกับ นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม สำหรับบริหารจัดการข้อมูลนวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดยวันสุดท้ายของการอบรม เป็นการนำความรู้ที่ได้รับตลอดการอบรมมาออกแบบงานสื่อสร้างสรรค์ และนำเสนอผลงานการนำข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ มาเชื่อมโยงกับ นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม สำหรับบริหารจัดการข้อมูลนวัตกรรม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมรับฟังคำแนะนำจากคณะวิทยากร และช่วงสุดท้ายเป็นการออกแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษาต่อไป โดย อาจารย์บุญลือ คำถวาย ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง
ตัวอย่างผลงานการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มนวนุรักษ์
ตัวอย่างผลงานแนวทางการออกแบบการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม
ครูสิทธิพร ธิมาชัย ครูผู้สอนวิชาสังคม โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากการเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนและผู้อื่น ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ว่าสามารถนำไปพัฒนาเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืนได้ในอนาคต การนำไปต่อยอดในด้าน การสอน จะแนะนำนักเรียน ในการเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยว โดยการสร้างคลิป สื่อ ต่างๆ ที่จะถ่ายทอดแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ ผ่านแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook , TikTok , YouTube เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ แก่ตนเอง ชุมชน ตามการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ครูสิทธิพรฯ ได้กล่าวถึง แพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ถือเป็นสื่ออย่างนึงที่คุณครูสามารถสร้างขึ้นมาแล้วให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ได้ หรือ แนะนำให้นักเรียนสร้างสื่อในการนำเสนอข้อมูลของตัวเอง เช่น อาชีพของพ่อแม่ แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนตนเอง เพื่อให้เกิดคลังข้อมูลให้ผู้อื่นเข้ามาเรียนรู้ได้ การใช้งานไม่ยาก สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้ที่เข้ามาชมสามารถใช้งานและเรียนรู้ได้ง่าย ครบจบในที่เดียว
ครูประภากร ทองนอก ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง กล่าวว่า การได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ในด้านแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้จัดทำ เรียบเรียง และเผยแพร่ข้อมูล และการทำคอนเทนต์รูปแบบต่างๆให้น่าสนใจ วิธีการนำเสนอให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้ที่สนใจจะมาศึกษาข้อมูลเหล่านี้ ความรู้ที่ได้รับเหล่านี้ถือเป็นเทคนิคที่นำไปประยุกต์ใช้สอนในชั้นเรียนได้หมด เช่น แพลตฟอร์มนวนุรักษ์ สามารถใช้นำเสนอข้อมูลของนักเรียน หรือการบูรณาการในการเรียนการสอน โดยให้นักเรียนได้ออกแบบ การสร้างคอนเทนต์ นำเสนอข้อมูลตามบริบทของชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรม ข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมของชุมชนด้าน Zero Waste นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มนวนุรักษ์
คุณครูอาภาพร ห่วงมาก ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า จากการที่ได้มาอบรมหลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้ได้ทราบประเภทเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เรียนรู้ การสร้างคอนเทนต์ อย่างที่ทราบว่าการสร้างคอนเทนต์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายที่อยู่ ๆ เราจะสามารถสร้างขึ้นมา ได้เรียนรู้กระบวนการ สร้างสตอรี่ การวางแผน การดึงดูดให้น่าสนใจอย่างไรบ้าง รวมถึงการได้สร้างผลงาน สนุกและได้ความรู้
นอกจากนี้สามารถนำไปต่อยอดในการเรียนการสอน ชี้แนะให้กับนักเรียนในการสร้างคอนเทนต์ หรือว่าแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ให้เป็นที่รวบรวมข้อมูล สามารถให้นักเรียนค้นคว้า ข้อมูลและนำมาใส่ไว้ในแฟตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล นำไปใช้ในวิชาที่สอนคือวิชาประวัติศาสตร์ ให้นักเรียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิภาคของเราและนำไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ เพื่อเป็นคลังข้อมูลของนักเรียนได้
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://bcg.in.th/news/training-sustainable-health-tourism/