มท.สนองพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ นำทีมลงพื้นที่โค้ชชิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่
มหาดไทยสนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นำทีมดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ลงพื้นที่โค้ชชิ่งอบรมถ่ายทอดแนวทางแก่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อบ่มเพาะสู่การเป็น Young OTOP New Gen ผู้รักษาและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คุณจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย Young OTOP รวมกว่า 120 คน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะทรงมีเป้าหมายที่อยากเห็นพสกนิกรชาวไทยมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นการขยายความจากพระปฐมบรมราชโองการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอ เพื่อเตือนใจข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกคน ให้มุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีผู้สนองงานในการทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข อันจะยังผลทำให้ประเทศชาติมั่นคงอย่างยั่งยืน
“นับเป็นเดชะบุญของพวกเราคนไทยทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระผู้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปฏิบัติพระกรณียกิจในการทรงงาน สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริด้านการนำภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมในด้านผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกของบรรพบุรุษไทยที่ได้รับการรื้อฟื้นโดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มา ‘ต่อยอด’ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยทรงมุ่งหมายที่จะพลิกฟื้นคุณค่าผ้าไทย งานหัตถกรรมไทยให้มีความร่วมสมัย เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย ทุกเวลา ทุกโอกาส ด้วยการพระราชทานแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และลายผ้าพระราชทานลวดลายต่างๆ เริ่มตั้งแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ฯลฯ ทำให้เกิดการจุดพลังการขับเคลื่อนงานหัตถกรรมในทุกมิติ ทั้งรูปแบบ ลวดลาย สี ทำให้ผ้าไทยมีความทันสมัย ทำให้คนนิยมใส่ผ้าไทยมากขึ้น จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่คนทอผ้า ย้อมผ้า ตัดเย็บ คนจำหน่าย มีตัวอย่างกลุ่มที่ได้รับพระกรุณาธิคุณที่ได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ แล้วนำองค์ความรู้ไปพัฒนาคุณภาพผ้าที่ผลิต เช่น กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทุกวันนี้รับออเดอร์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศจนผลิตแทบไม่ทัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในกลุ่มจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก”
นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านสีทอผ้า ลวดลาย รูปแบบการตัดเย็บ โดยทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ Thai Textiles Trend Book และพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้าตลอดจนผู้ประกอบการผ้าทั่วประเทศ ด้วยเพราะทรงเล็งเห็นว่า แฟชั่นคือความชอบ เป็นรสนิยมคนที่ไม่คงที่ แต่ก็สามารถวิวัฒนาการได้ และด้วยพระวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน ทำให้เราเห็นความเจริญงอกงามของผืนผ้าไทย ที่ต่อยอดจากการรื้อฟื้นคืนชีวิตผ้าไทยของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะลายพระราชทาน ที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงคือสิ่งที่พระองค์พระราชทานมาเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด และสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีเป้าหมายอยากเห็นประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง อันนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเพราะงานหัตถกรรมเป็นงานอันศิวิไลซ์ เป็น Soft Power ที่สามารถทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะทุกคนที่ใส่ผ้าไทยไม่ได้ใส่เพราะมันเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยที่เราต้องช่วยทำนุบำรุงให้ประชาชนมีความแข็งแรง เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทยไป เรามีความสุขเพราะรู้ว่าเงินจะตกไปถึงคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ที่อิ้วฝ้าย อิ้วไหม ทอผ้า ย้อมสี อย่างครบวงจร
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานสิ่งที่เป็นสากล คือ พระดำริ ‘Sustainable Fashion’ ด้วยการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า และการปลูกต้นไม้ที่ให้สีทดแทนต้นไม้ที่ถูกนำมาใช้ย้อมสีผ้า รวมทั้งการส่งเสริมการออกแบบตัดเย็บ การจัดทำบรรจุภัณฑ์ การบอกเล่านำเสนอเรื่องราว ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ สภาพอากาศ เพื่อรับตราสัญลักษณ์พระราชทาน ‘Sustainable Fashion’ ติดไว้บริเวณบรรจุภัณฑ์หรือตัวสินค้า อันแสดงว่าผลงานนั้นๆ เป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน พร้อมทั้งพระราชทานพระกรุณาธิคุณให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกได้เป็นทีมลงมาช่วยเหลือ ลงมา coaching ทำให้องค์ความรู้จากนักวิชาการระดับมหาวิทยาลัย และผู้ที่ยึดอาชีพด้านแฟชั่น เป็นดีไซเนอร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ ผู้มีความรู้ที่หลากหลาย มาทำให้พี่น้องผู้รักษาภูมิปัญญาได้มีทักษะการพัฒนาผลงานให้สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงมีภาวะผู้นำ และความสามารถ (Charisma) ที่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เกิดคำว่าความสำเร็จ (Success) เกิดขึ้นในทั่วทุกหนระแหงของผืนแผ่นดินไทย” นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้เข้าร่วม Workshop ทุกคนได้ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ ตักตวงนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากวิทยากร เพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต ซึ่งเมื่อทุกท่านได้เรียนรู้ตรงกับหลักเกณฑ์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ก็สามารถขอรับใบประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเป็นกำลังใจของชีวิต และขอให้พวกเราทุกคนได้มุ่งมั่นที่จะช่วยกันรักษาชาติไทยให้คงความเป็นชาติ เพราะมีวัฒนธรรมไทย มีหัตถกรรมไทยคงอยู่ตราบนานเท่านาน
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า วันนี้เป็นการโค้ชชิ่งครั้งแรกของปี 2567 จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้เฟ้นหากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ใช่สมาชิก OTOP เพื่อร่วมเป็น Young OTOP หน้าใหม่ เสริมเติมจากทีมงานเดิมทั้ง Young OTOP ดั้งเดิม Young OTOP ประกวดตัดเย็บ และ Young Generation ที่ได้รับการเริ่มต้นพัฒนาโดยท่าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะเป็นแนวทางหนุนเสริมให้บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนได้มีภาคีเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น และด้วยความโชคดีที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้มาเป็นภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ช่างทอผ้าหรือผู้ประกอบการที่ทำงานหัตถกรรมมาทั้งชีวิตหรือได้รับการฝึกอบรมตามจำนวนที่กำหนดในคุณสมบัติ เพื่อสามารถขอรับใบประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เช่น การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น
ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นต้นแบบของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้มีความสนใจในงานด้านแฟชั่น พระองค์ทรงมีเป้าประสงค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ตอนกำลังศึกษาระดับ ม.5 ด้วยทรงมุ่งมั่นใฝ่หาความรู้ โปรดที่จะพูดคุยกับศิลปินแห่งชาติ ศิลปินท่านต่างๆ ทรงทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ ทรงตรัสถามและศึกษากับเหล่าดีไซเนอร์ และในวันนี้พระองค์ท่านทรงมีพระกรุณาคุณโปรดให้พวกเราทุกคน ได้มาพบกับน้องๆ ซึ่งน้องๆ ได้มีโอกาสมาเจอผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์จำนวนมาก จึงขอให้ได้ศึกษา สอบถาม ฝึกปฏิบัติกับ “ทีมวิชชาลัยแฟชั่นพระราชทานแบบครบวงจร” เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี ทักษะที่เป็นเลิศ พัฒนาตนเอง ให้เป็นดีไซเนอร์ ให้เป็นผู้ประกอบการ ผู้รักษา และต่อยอดศิลปวัฒนธรรม หัตถศิลป์ หัตถกรรม อันทรงคุณค่าอย่างยั่งยืนสืบไป
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม มาถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่เป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ได้แก่
1.การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล โดย ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน และนายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย
2.การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย โดยอาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย
3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยอาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 4.การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) โดยนายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) และ 5.กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า โดยอาจารย์ ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4419500