เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวคิดดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผลิตสินค้าโดยใช้คุณค่า (Value) ของทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไต้หวันก็ได้ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก
รัฐบาลไต้หวัน ได้ผลักดันนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี ค.ศ. 2025 และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนโดยต้องการผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในไต้หวัน
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้ผลักดันภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม 5+2 (5+2 Industrial Innovation Plan) ที่รัฐบาลวางแผนให้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไต้หวัน และภาคอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมทั้ง 7 ประกอบด้วย
1) เครื่องกลอัจฉริยะ (Smart Machinery)
2) IoT (Internet of Things)
3) พลังงานสีเขียว (Green Energy)
4) Biotech and Pharmaceutical
5) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ (National Defense)
6) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
7) เกษตรกรรมใหม่ (New Agriculture)
รัฐบาลไต้หวันได้พยายามผลักดัน สนับสนุน และให้ความรู้กับภาคอุตสาหกรรมให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อให้สอดคล้องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่ไม่ได้จบลงเพียงการบริโภค แต่สามารถนำขยะกลับไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดับเพื่อการผลิตต่อได้ หรือถูกกำจัดทิ้งได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไต้หวันมีระบบการจัดการขยะ (Waste management) และ กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิลที่ได้รับการยอมรับโดยสากล โดยเรื่องราวการรีไซเคิลของไต้หวัน ได้รับการตีพิมพ์ลงบทความในวารสาร Ensia ของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม (Institute of Environment) ของมหาวิทยาลัยมินิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอ้างถึงว่าไต้หวันถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สามารถรีไซเคิลขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยสามารถรีไซเคิลขยะจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้ในสัดส่วนร้อยละ 55 และรีไซเคิลขยะจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 77 โดยในปี ค.ศ. 2015 ไต้หวันมีบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน
การรีไซเคิลมากกว่า 1,600 แห่ง และมีผลประกอบการรวมมากถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง ในปัจจุบัน ระบบการรีไซเคิลของไต้หวันได้พัฒนา ต่อยอดถึงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิลด้วย โดยหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถดำเนินการได้ดี คือ การรีไซเคิลแก้วและกระจก โดยโรงงานจัดเก็บและรีไซเคิลแก้วในเมืองซินจู๋ (Hsinchu) บริษัท The Spring Pool Glass Industries Cooperation
The Spring Pool Glass Industries โรงงานคัดแยกขยะประเภทแก้ว/กระจกและการรีไซเคิล
การดำเนินธุรกิจของ Spring Pool Glass ที่เปลี่ยนแปลงจากการทำธุรกิจรีไซเคิลแก้ว/กระจกธรรมดามาเป็นการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบ (raw material) ที่มีมูลค่านำไปใช้ได้อีกครั้ง โดยสามารถผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตขวดแก้ว อิฐบล๊อคทนไฟ (energy-saving and fire resistance blocks) ผลิตภัณฑ์แก้วเป่าตกแต่งเพื่อความสวยงาม ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของธุรกิจอย่างครบวงจร
ในฐานะผู้รีไซเคิลแก้วและกระจกรายใหญ่ของไต้หวันที่รีไซเคิลแก้วและกระจกในไต้หวันในปริมาณกว่า 100,000 เมตริกตัน ต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการรีไซเคิลขยะประเภทแก้วและกระจกของไต้หวัน โดยไต้หวันสามารถรีไซเคิลขยะประเภทแก้วและกระจกได้มากกว่าร้อยละ 90 ของการใช้งานทั้งหมด
โดยประเภทแก้วและกระจกที่รีไซเคิลจะจำแนกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1) ขวดแก้วและกระจกทั่วไป 2) กระจกภายในอาคาร 3) กระจก LED สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ บ. Spring Pool Glass ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า The W Glass โดยเป็นการคัดแยกขยะประเภทแก้วและกระจกทั่วไต้หวัน มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้เทคนิคเฉพาะในการเป่าแก้วมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีความร่วมมือกับนักออกแบบที่มีชื่อเสียงเพื่อร่วมกันผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขายในไต้หวันและส่งขายยังต่างประเทศ
ขั้นตอนในการคัดแยกแก้วและกระจกของโรงงานแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้
- เก็บขยะ ขั้นตอนแรกที่ทางโรงงานจะไปเก็บแก้ว/กระจก ณ ศูนย์รีไซเคิลกระจกในเขตท้องที่ โดยจะเป็นการใช้แรงงานคนในการคัดแยกประเภทของแก้ว/กระจก หลังจากนั้นจะนำกระจกรีไซเคิลที่คัดกรองแล้ว กลับไปที่โรงงานเพื่อคัดสรรและจำแนกสี รวมถึงทำการแกะฉลากผลิตภัณฑ์ที่ติดมาพร้อมกับขวดแก้วและกระจกต่าง ๆ ออก
- จำแนกสี ขั้นตอนการจำแนกสีของแก้ว/กระจก โดยขั้นตอนนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการจำแนกเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากวัสดุแต่ละชนิดมีคุณภาพที่แตกต่างกัน หากนำสีที่ไม่เหมือนกันมาผลิตพร้อมกันอาจนำมาซึ่งปัญหาของคุณภาพ และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คัดแยกวัสดุ เป็นการคัดแยกและจำแนกประเภทของแก้ว/กระจกอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยจะมีการนำผลิตภัณฑ์ไปทำความสะอาด ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นการคัดแยกวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการทำผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
- การผลิตใหม่ ภายหลังผ่านขั้นตอนในข้างต้นแล้ว โรงงานจะนำวัสดุที่ผ่านการคัดแยกแล้วไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและผลิตออกมาใหม่โดยกระบวนการผลิตมีตั้งแต่การใช้เทคนิคเป่าแก้วออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจะมีด้วยกันหลากหลาย อาทิ แก้วชา แก้วน้ำ โคมไฟ หลอด แจกันใส โดยหลังจากผ่านการแปรรูปในขั้นแรกแล้วจะสามารถนำไปออกแบบลวดลายเพื่อประดิษฐ์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการรีไซเคิล และการนำไปผลิตเป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตเป็นวัตถุดิบ (raw material) ใหม่
นอกเหนือจากเทคนิคการเป่าแก้วแล้ว โรงงานยังได้เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยการเพิ่มสายการผลิตอย่าง การนำเศษแก้วไปเข้าเตาเก็บความร้อนเฉพาะโดยกำหนดให้มีอุณหภูมิอยู่ที่ 500-600 องศาเซลเซียส เพื่อผลิตออกเป็นอิฐทนไฟ (energy-saving and fire resistance blocks) ที่มีคุณสมบัติกันไฟ สามารถทนไฟได้โดยไม่ไหม้หรือถล่มกว่า 4 ชั่วโมง และสามารถเก็บเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเพิ่มสายการผลิตนี้ช่วยทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการรีไซเคิลมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยอิฐทนไฟที่ผลิตออกมาได้มีการส่งขายออกไปยังตลาดต่างประเทศและได้รับการรับรองด้านความคงทนของวัสดุจากประเทศสิงคโปร์ โดยสามารถทนการเผาไหม้ได้เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง และยังมีการนำอิฐดังกล่าวไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เป็นวัสดุสำหรับห้องซ้อมดนตรี ห้องนอน ห้องคาราโอเกะ และโรงงานอุตสาหกรรม
บริษัท The Spring Pool Glass Industries มีการร่วมมือกับร้านอาหารและศิลปินชื่อดังในไต้หวันเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการรีไซเคิลให้กับคนไต้หวัน โดยร่วมมือกับร้านชานมไข่มุกชื่อดังอย่าง Chun Shui Tang (春水堂) ในการเป็นผู้ผลิตหลอดและแก้วสำหรับเครื่องดื่มชานมไข่มุก แบบนั่งกินที่ร้าน โดยเป็นแก้วที่ผลิตจากเศษแก้วและกระจกรีไซเคิล 100% นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับนักร้องชื่อดังในไต้หวันอย่าง JJ Lin ในอัลบั้ม “Message in a bottle” โดยมีของสัมนาคุณประจำอัลบั้มเป็น “จดหมายในขวดแก้ว” โดยขวดแก้วที่บรรจุข้อความจาก JJ Lin ถึงแฟนคลับของตนตามชื่ออัลบั้มนั้นเป็นขวดแก้วผลิตจากแก้ว/กระจกรีไซเคิลเช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของไต้หวัน นอกเหนือจากการรีไซเคิลกระจกและขวดแก้วแล้ว ยังมีเครื่องผลิตกระดาษรีไซเคิลแบบแห้ง (PaperLab) ที่สามารถรีไซเคิลกระดาษได้เองภายในเครื่องถ่ายเอกสาร ด้วยกระบวนการแบบแห้ง (Dry Process) ตั้งแต่การย่อยกระดาษไปจนถึงการสร้างกระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมา
นอกจากนี้ บริษัทบุหรี่และสุราไต้หวัน (Taiwan Tobacco & Liquor Corporation: TTL) ก็จัดกิจกรรม Glass Bottle Recycle Service เชิญชวนให้ปผู้บริโภคนำขวดแก้วกลับมาแลกคืน ในราคาขวดละ 3 NTD ซึ่งจูงใจให้มีอัตราการนำขวดมาคืนสูงถึงร้อยละ 97.6 ของที่ขายไป โดยมีจำนวนมากถึง 290 ล้านขวด ในปี 2018
โครงการข้างต้นแสดงให้เห็นว่าไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด และตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จึงผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยเป็นนโยบายที่รัฐบาลขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นองค์รวม พร้อมทั้ง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจกับแนวคิดนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://thaibiztaiwan.thaiembassy.org/th/content/แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน-circular-economy-ของไต้หวั