ปัญหา ขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากแนวโน้มการเกิดขยะพลาสติกนั้นมีมากขึ้นทุกปี ซึ่งถ้าอ้างอิงตามงานวิจัยระดับโลกจะพบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมามีปริมาณขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ท้องทะเลมากกว่า 13 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือมักจม หรือล่องลอยไปตามกระแสน้ำอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเหล่านี้ บางชิ้นอาจจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี
สำหรับปัญหา ขยะพลาสติก ในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงานของ Jemback et al ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอยสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะเยอะที่สุดในโลก และมีขยะมากถึง 27.40 ล้านตันต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน จากข้อมูลนี้เองที่ทำให้รัฐบาลยกประเด็นปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความตื่นตัวในการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกของทุกภาคส่วนให้มากขึ้น
เมื่อกลไก EPR ไม่ใช่ ทางเลือก แต่เป็น ทางรอด
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ กฎหมาย EPR หรือ Extended Producer Responsibility ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้อุตสาหกรรมพลาสติกไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหา ขยะพลาสติก กลายมาเป็น Hot issue ในแวดวงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอมาตรการจัดการกับ ขยะพลาสติก ในหลากหลายมิติ อย่างภาครัฐของไทยก็ได้กำหนดทั้งมาตรการและกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก และจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573)
โดยในครั้งนี้ได้มีการขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single – use plastics) 7 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ภายในปี พ.ศ. 2565) แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2568) และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570
ส่วนในระดับโลก ได้กำหนดนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยครั้งสำคัญ นั่นคือ กฎหมาย EPR ย่อมาจาก Extended Producer Responsibility ซึ่งเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ ให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยในแต่ละประเทศจะมีระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม EPR ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการของแต่ละประเทศที่นำไปปรับใช้ โดยผู้ที่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าธรรมเนียม คือ ผู้ใช้แพคเกจจิ้ง หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้สิ่งที่จะสามารถช่วยให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ สามารถลดค่าธรรมเนียม EPR ได้คือ ผู้ผลิตแพคเกจจิ้ง จะต้องใช้วัตถุดิบ ที่ออกแบบมาเพื่อการรีไซเคิล มีสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ วัสดุที่ได้รับรองว่าสามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือประโยชน์ใหม่ได้ และแน่นอนว่า กฎหมาย EPR ก็ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ร่างกฏหมาย EPR ด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญใน 4 ด้าน คือ
1. ด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจจะสูงขึ้น
2. ด้านกฎหมาย ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการ EPR จะได้รับความเสี่ยงจากการดำเนินการและค่าปรับ
3. ด้านภาพลักษณ์ ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปฏิบัติตามหลัก EPR จะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้วัสดุที่มีคุณภาพดีและสามารถหมุนเวียนนำไปใช้ใหม่ได้
ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว เพราะในหลายประเทศได้นำหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) มาปรับใช้เพื่อจัดการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้หลากหลายประเภท อย่างประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ ไต้หวันได้นำหลักการ EPR มาเป็นพื้นฐานในการออกกฎหมายเพื่อจัดการผลิตภัณฑ์บางประเภทที่อันตราย ยากต่อการจัดการ เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งมีรายงานที่บ่งชี้ว่าประเทศที่มี กฎหมาย EPR จะมีอัตราการเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิลสูงที่สุดอีกด้วย และไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังผลักดัน EPR จากความร่วมมือไปสู่ภาคบังคับใช้
ชี้การรับมือ EPR ที่ภาคเอกชนไทย ต้องรีบเรียนรู้และปรับตัว
จากสถานการณ์ทั้งหมดทำให้ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ร่วมกับ ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย เจ้าของแบรนด์ “InnoEco” ได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาออนไลน์เรื่อง “พลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกหรือทางรอด” เพื่อให้ความรู้เรื่องหลักการ Extended Producer Responsible (EPR) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการรับคืน การรีไซเคิลและการกำจัดซากผลิตภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยต้องรู้ เพื่อเตรียมตัวปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกลไกนี้ที่ทั่วโลกได้บังคับใช้รวมถึงประเทศไทยที่กำลังดำเนินการ
เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจไทย เตรียมตัวปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจ ให้สอดรับกับกลไก EPR ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจขยายไปต่างประเทศได้ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ “การเตรียมรับมือกับ EPR ของภาคธุรกิจเอกชน”
“ขณะที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกเพราะกลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนในมหาสมุทร สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ล่าสุดองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายจะมีข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับขยะพลาสติกภายในปี 2567 บนพื้นฐานการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน และตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยประเทศสมาชิกได้เริ่มการเจรจาเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2565 ประกอบกับแนวโน้มการออกกฎหมายของประเทศต่างๆ พบว่า ร่างกฎหมายของสหภาพยุโรป ร่างกฎหมายของประเทศฟิลิปปินส์ แผน Roadmap ของไต้หวันและมาเลเซีย ฯลฯ ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น”
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ จึงได้เสนอว่า “ดังนั้น อนาคตอันใกล้นี้ รีไซเคิลคอนเทนต์ หรือสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์จะถูกกำหนดเป็นภาคบังคับมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้จะเชื่อมโยงกับพลาสติกรีไซเคิลอย่างชัดเจน”
“เพราะว่าตอนนี้เริ่มมีการออกข้อบังคับให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกต้องกำหนดสัดส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิลไม่น้อยกว่าเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้อาจจะส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพราะแนวโน้มหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการคล้ายๆ กัน นอกจากนี้ ยังมีอนุสัญญามลพิษพลาสติกฉบับใหม่ที่ทางสหประชาชาติกำลังเจรจายกร่างกันอยู่ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปีนี้หรือประกาศใช้ในปี 2567”
“การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ประเทศไทยต้องเริ่มจากวิธีการผลิตและการบริโภค ซึ่งพบว่าผู้ผลิตยังไม่ค่อยมีแนวคิดเรื่อง EPR เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะ หรือกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิตให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตจะผลิตสินค้าที่คำนึงต้องขายสินค้าหรือว่าทำกำไรให้ได้มากที่สุด ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้สนใจที่จะปรับเปลี่ยนการบริโภคที่ยั่งยืน ปลายทางของขยะที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถนำเข้าสู่กลไกรีไซเคิลได้เท่าที่ควร ส่วนใหญ่ไปจบที่บ่อขยะ”
“จึงต้องคิดเรื่องนี้ใหม่ทั้งระบบ ทั้งในเชิงบริหารจัดการที่ควรหันไปดูต้นทางของขยะกลุ่มนี้มากขึ้น โดยกลไก EPR จะช่วยให้มีการรีไซเคิลพลาสติกประเภทขวด PET มากขึ้น และเข้ามาจัดการรีไซเคิลพลาสติกทั้งระบบหรือขยายครอบคลุมพลาสติกชนิดต่างๆ มากขึ้น เพิ่มอัตราการเก็บพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้สูงขึ้น และส่งผลให้ประชาชนแยกขยะก่อนทิ้งมากขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตต่างๆ ความสะดวกของผู้บริโภคในการแยกขยะและส่งต่อขยะก็จะมีมากขึ้น”
“ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังสามารถปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียม EPR เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกิดระบบการเก็บกลับมารีไซเคิลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
ENVICCO มีความตั้งใจที่จะเป็นต้นแบบปรับใช้ กฎหมาย EPR พร้อมนำเสนอ นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR แบรนด์ ‘InnoEco’ มีปณิธานที่แน่วแน่ว่าจะเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่ปรับเอา กลไก EPR มาใช้กับการดำเนินธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
โดย ธนูพล อมรพิพิธกุล Senior Commercial Analyst ของ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) เน้นย้ำถึงความตั้งใจนี้ ในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “พลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกหรือทางรอด” ว่า “ENVICCO พร้อมเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่สนับสนุนกลไก EPR (Extended Producer Responsibility) หรือกลไกเพื่อการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบรรจุภัณฑ์ สร้างแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อสร้างแนวทางให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด”
“การจัดตั้ง บริษัท ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในพันธกิจที่ ENVICCO ตั้งใจที่จะนำเสนอนวัตกรรมที่ตอบสนองบทบาทการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปนเปื้อนขยะพลาสติกลงมหาสมุทรและลดการฝังกลบขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น
“GC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ได้ลงทุนร่วมกับบริษัท แอลพลา กรุ๊ป (ALPLA Group) ตั้งโรงงาน ENVICCO เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาตรฐานระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ InnoEco เพื่อสร้างวงจรรีไซเคิล และการจัดการขยะในระดับท้องถิ่นให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพระดับ Food Grade สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้ เพราะ ENVICCO ตระหนักว่าเม็ดพลาสติก คือหัวใจสำคัญของคุณภาพและความปลอดภัยที่สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้นั่นเอง”
“ทั้งนี้วัตถุดิบ 100% ที่ถูกนำเข้ามาในกระบวนการผลิต เป็นพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนในประเทศไทย ซึ่ง GC ได้ร่วมกับ ENVICCO สร้างศูนย์บริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว 12 แห่งใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ และนครปฐม ตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมแยกขยะและการรีไซเคิล เพื่อสร้างวงจรรีไซเคิล สร้างกลไกการจัดการขยะในระดับชุมชน ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น’ แพลตฟอร์ม ช่วยจัดการขยะ ตั้งแต่วิธีการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง เพื่อส่งต่อให้กับโรงงาน ENVICCO ไปทำการคัดแยกและทำความสะอาด ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยการปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก จนกลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง”
“เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยโดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) รวมถึงหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) จึงมั่นใจได้แบบ 100% ว่าปลอดภัยแน่นอน และยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของพลาสติกใช้แล้วได้ ซึ่งในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกไปแล้วกว่า 1,456 ล้านขวด”
ธนูพล ยังกล่าวอีกว่า “ปัจจุบันมีแบรนด์ระดับโลกหันมาใช้เม็ดพลาสติกของ ENVICCO ในการผลิตขวด ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลมออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของ อย. แล้ว”
“อย่างไรก็ดีการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเม็ดพลาสติกเวอร์จิน โดยต้นทุนที่สูงกว่า เกิดจากต้นทุนในการรวบรวมจัดเก็บและกำจัดสิ่งปนเปื้อน สิ่งแปลกปลอมในกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งในอนาคตหากการจัดเก็บ การบริหารจัดการในส่วนนี้ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ผลิตหันมาใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้นก็อาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแช่งขันกับเม็ดพลาสติกเวอร์จินได้ในอนาคต” ธนูพล กล่าวในที่สุด
ที่มาภาพและข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2023/12/15/epr-green-plastic-envicco-gc/