Search
Close this search box.

ผลการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการ BCG สาขากฎหมาย

share to:

Facebook
Twitter

1. การส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นโดยใช้มาตรการภาษีสรรพสามิต

ที่มาและความสำคัญ กรมสรรพสามิตกำหนดให้จำหน่ายเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจะต้องผ่านการแปลงสภาพเป็น “เอทานอลแปลงสภาพ” (Denatured Ethanol) และจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ได้เท่านั้น ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่ม ในกรณีที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์อัตราร้อยละศูนย์ ต้องดำเนินการตามประกาศกรมสรรพสามิตสำหรับการขอใช้สิทธิเสียภาษีอัตราร้อยละศูนย์สำหรับอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ผลการดำเนินการ ปัจจุบันกรมสรรพสามิต ได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เพิ่มเติมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับใบอนุญาตผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องไม่มีแอลกอฮอล์

 

2. การแยกประเภทโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากโรงงานประเภทเคมีภัณฑ์

ที่มาและความสำคัญ การรวมอุตสาหกรรมชีวภาพให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นอุปสรรคต่อการขอจัดตั้งโรงงานใหม่เนื่องจากอาจได้รับการคัดค้านจากชุมชนรอบข้าง โดยเข้าใจว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวใช้วัตถุดิบทางชีวภาพซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแยกประเภทโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากโรงงานประเภทเคมีภัณฑ์จะเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่มากในพื้นที่ไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นแนวทางช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาและก่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่

ผลการดำเนินการ ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ แก้ไขปรับปรุงประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์สารเคมี หรือวัสดุเคมีซึ่งมิใช่ปุ๋ยอย่างหนึ่งอย่างใด จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ประเภท ได้แก่
1) การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี
(2) การเก็บรักษา ลำเลียง แยก คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุเฉพาะ เคมีภัณฑ์อันตราย
โดยแก้ไขปรับปรุงเป็น 5 ประเภท ได้แก่
(1) การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี
(2) การเก็บรักษา ลำเลียง แยก คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุเฉพาะ เคมีภัณฑ์อันตราย
(3) การทำเคมีภัณฑ์ สำรเคมี หรือวัสดุเคมีซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการชีวภาพเป็นพื้นฐาน
(4) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ที่ผลิตจากวัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง
(5) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ที่ผลิตจากวัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบที่ผลิตมาจากปิโตรเลียมและทำให้พลาสติกชีวภาพนั้นสลายตัวได้ทางชีวภาพ

 

3. การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้

ที่มาและความสำคัญ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม เว้นแต่ ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทย จึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) ทั้งหมด แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการจะมีนวัตกรรมการผลิตพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และมีการส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตขวดไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก

ผลการดำเนินการ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่435) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 และกำหนดให้สามารถใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ได้ตาม คุณภาพหรือมาตรฐานที่กำหนด โดยแบ่งพลาสติกแปรใช้ใหม่ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) การแปรใช้ใหม่แบบปฐมภูมิ
(2) การแปรใช้ใหม่แบบทุติยภูมิ
(3) การแปรใช้ใหม่แบบตติยภูมิ
เพื่อลดการใช้พลาสติกใหม่ แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

4. การกำหนดกติกาให้มีการลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาสังคม

ที่มาและความสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาสังคม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรหรือการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตต่อไป

ผลการดำเนินการ ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้มีการออกระเบียบและคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐ ดังนี้
(1) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้บุคคลภายนอก ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลงทุนปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ที่กำหนด การกำหนดสิทธิและเงื่อนไข ตลอดจนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2564 สำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินการปลูกป่าชายเลนต่อไป
(2) กรมป่าไม้ ได้กำหนดระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก บำรุง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้บุคคลภายนอก ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ สามารถขอเข้าร่วมโครงการ T-VER กับกรมป่าไม้ได้ ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ตลอดจนการกำหนดสิทธิและเงื่อนไข สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานการขอเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) จากการปลูก บำรุง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ สำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินการตามระเบียบต่อไป
(3) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ
พันธุ์พืช ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูก บำรุง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
พ.ศ. 2564 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้บุคคลภายนอก ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ สามารถขอเข้าร่วมโครงการ T-VER กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย ตลอดจนการกำหนดสิทธิและเงื่อนไข สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต