ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’Meeting : AELM) ปี 2022 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้ร่วมกับสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีฉันทามติในการขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model หรือเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-circular-Green Economy : BCG) ประเทศไทยในฐานะผู้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อให้ปฏิญญากรุงเทพฯครั้งนี้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและสื่อสารทำความเข้าใจ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของสัญญาณประชาคมโลกครั้งนี้อย่างที่แท้จริง
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิด BCG ว่า ประเทศไทยมีการพูดถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และมีการชู 10 อุตสาหกรรมดาวเด่น หรือ 10 S-Curve แต่จริงๆ แล้วใน 10 S-Curve นั้น มี 5 S-Curve ที่เป็น BCG ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism), อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology), อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) , อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) และ อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub) ส่วน 5 S-Curve ที่เหลืออาจจะไกลตัวเรา แต่ก็ต้องตามไปดู เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive),อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ที่ค่อนข้างก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรรมดาวเด่นเหล่านี้ถึงจุดหนึ่ง ไทยต้องยืนบนขาตัวเองได้ โดยเฉพาะ 5 S-Curve แรกที่เกี่ยวกับ BCG และต้องมีเทคโนโลยีที่เป็นของไทยเองด้วย
“ปัจจุบันโจทย์ของโลกเปลี่ยนมาสู่เรื่องของความยั่งยืน (sustainability) และความเท่าเทียม ถ้าไทยยังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นศัพท์เก่าที่ไม่ใช้กันแล้ว คงไม่ใช่แน่ ถ้าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกจากจะยืนบนขาตัวเองแล้ว ก็ควรตอบโจทย์ของโลกด้วยในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ไทยมีอยู่ จะมุ่งไปสู่อะไรได้บ้าง เรื่องแรก คือ Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เพราะไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก”
นอกจากนี้ ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นต้นน้ำของ soft power ของไทย เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ แต่ด้วยความที่เราทำ ตามมีตามเกิด เกษตรก็ทำเกษตรแบบเดิมๆ ท่องเที่ยวก็รอลุ้นทัวร์จากจีน พลังงานก็ยังเป็นพลังงานที่ไม่สะอาดและยังไม่กระจายสู่พลังงานชุมชน ในอนาคต พลังงานจะต้องกระจายไปทุกพื้นที่ สามารถมีแหล่งพลังงานที่อย่างน้อยป้อนตัวเองได้ หรือมีส่วนเกินที่จ่ายให้คนอื่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะโลกเรากำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ บริการทางการแพทย์ของไทย ได้รับการทดสอบแล้วจากกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าสาธารณสุขของไทยดีในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นคือ ดีในแง่ของการบริการทางการแพทย์ แต่ที่ไม่ดีในแง่เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical technology) โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาต้องซื้อ เสื้อ PPE หรือวัคซีนต่างๆ ที่ไทยผลิตไม่ได้เลย คือเราเข้าใจว่าเรามีจุดแข็ง แต่จริงๆ แล้วจุดอ่อนเต็มไปหมด
BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ตอบโจทย์ความยั่งยืน-เท่าเทียม
ดร.สุวิทย์ อธิบายต่อว่า เรื่อง BCG นั้น มิติแรก ต้องทำให้เป็นนโยบายที่มีการบริหารจัดการที่ดีและมีองค์ความรู้ ในเรื่องนโยบาย ณ ขณะนี้ยังไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำในสิ่งที่ไทยมีอยู่ให้ดีขึ้น โดยเอาสิ่งที่มีอยู่ทำให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จากนั้นต้องมีการบริหารการจัดการที่ดี
แต่ ณ วันนี้ หลังจากผู้นำเอเปค 2022 ได้ประกาศขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model ไปแล้ว แต่ไทยยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย และต้องเติมเต็มด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
“ตอนที่ผลักดันเรื่อง BCG ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคาบเกี่ยวกับการไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงมองเรื่ององค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ แต่การบริหารจัดการก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายก็สำคัญ ฉะนั้น เรื่องนี้มี 3 องค์ประกอบ ไม่ใช่พูดไปเรื่อย จึงต้องดูว่า 1. นโยบายชัดเจนหรือไม่ 2. การบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนในพื้นที่ โอเคไหม และ 3. คือการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
สำหรับ Bio Economy เมื่อโลกจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่แล้ว ต้องไปสู่ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนแน่ๆ คือเปลี่ยนจาก Linear Economy ไปสู่ Circular Economy ในระยะเวลาไม่เร็วก็ช้า ภาคธุรกิจที่เคยเป็น value chain ก็จะเปลี่ยนเป็น value circle มีการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และหมุนเวียนให้อยู่นานที่สุด จึงเป็นที่มา ของ dematerialization หรือการลดทอนการใช้ทรัพยากรลง แต่ circular นั้น ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากร และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เรื่อง circular จึงต้องไปคู่กับเรื่อง Bio ฉะนั้น COP26 (ข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26) หรือ COP27 ล้วนเกี่ยวกับเรื่อง BCG อยู่แล้ว โดย BCG ไม่ได้มองแต่เรื่อง climate change อย่างเดียว แต่มองเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ส่วนเรื่อง Green Economy ทั้งเรื่องรักษ์ การใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ก็มีหลายเรื่องต้องทำ
“ตอนที่ไทยประกาศเรื่อง BCG ออกมา (ก่อนเวทีการประชุมเอเปค 2022) ได้มีทูตจากกลุ่มประเทศยุโรป 10 กว่าประเทศ จากอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เชิญผมไปพูด พูดเสร็จ ทูตจากประเทศเหล่านี้มีคำกล่าวที่ดีมาก เขาบอกว่าไทยเป็นประเทศแรกที่เอา B-C-G มาอยู่รวมกันเป็นนโยบายเดียว เพราะตอนที่ผมพูด ผมบอกว่า BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกนี้มีอยู่แล้ว แต่มันเป็นเรื่องค่อนข้างเทคนิค และแยกกันคนละเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่อง B หรือ C หรือ G แต่ไทยเป็นประเทศแรกที่มีความเชื่อว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน พูดง่ายๆ คือ มันต้องกินได้ สิ่งที่ประชาชนในประเทศนั้นกินได้ อาศัย Bio กับวัฒนธรรมของเขา ทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรม กลายเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ กลายเป็นการท่องเที่ยวได้หมด แต่ที่สำคัญต้องเปลี่ยนเป็น circular มากขึ้น ต้อง green มากขึ้น”
ดร.สุวิทย์กล่าวย้ำว่า “นี่คือที่มาของ BCG หนึ่ง ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่ไม่เคยมีใครนำมาผสมผสานให้เป็นเรื่องจริงจัง และมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน สอง BCG ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศไทยเท่านั้น เราต้องการสร้าง economy model ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเอง แต่ต้องการตอบโจทย์โลกในเวลาเดียวกันด้วย คือทำแล้วไม่มีข้อย้อนแย้ง ไม่ใช่เรื่องแพ้-ชนะ แต่ BCG เป็นโมเดลที่เราเชื่อว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย win-win ทุกประเทศทำได้ ถ้าต่างคนต่างทำ จากประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นสีสัน ไม่ได้แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นแบบ คู่แข่งคู่ค้า มาเที่ยวเรา เราเที่ยวเขา มีซอฟต์พาวเวอร์มาแลกกัน”
“สำหรับผมงานนี้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งทีอย่าเพื่อตัวเอง ต้องมองเผื่อแผ่โลกด้วย ผมจึงเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าจะทำเรื่องนี้ จะไม่ใช่วาระแห่งชาติ หรือ Nation Agenda แต่เป็น Global Agenda เพราะเราไม่ได้ทำแคบๆ เฉพาะของไทย สิ่งที่มีไทยไม่ได้มีคนเดียวในโลก ทุกคนมีหมดเพียงแต่แตกต่างกัน และ ถ้าเราทำเรื่องนี้ดี จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เป็นจุดขายไม่กี่จุดที่ไทยเรามี จุดขายที่เคยมีอย่างการท่องเที่ยว มันอยู่ใน BCG อยู่แล้ว และจุดขายของประเทศไทยในเวทีโลก ไม่ควรเป็นจุดขายที่แค่ทำมาหากิน แต่ต้องเป็นจุดขาย sustainability”
- มิติที่สอง คือ area-based BCG หรือ BCG เชิงพื้นที่
- มิติที่สาม คือ career-based BCG
ที่มาบทความ/อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ : https://thaipublica.org/2022/11/suvit-maesincee-bcg-in-action/