ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Working Group: APEC SMEWG) ครั้งที่ 54 ว่า เป็นการประชุมระดับคณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเอเปค SME มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดเห็นและรวบรวมผลสรุป ทั้งด้านความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอและรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายน การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมให้ MSMEs ทั่วเขตเศรษฐกิจ ฟื้นตัวจากได้อย่างรวดเร็วและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยประเด็นแลกเปลี่ยนที่สำคัญ มี 3 เรื่อง ดังนี้
1. สำนักงานเลขาธิการเอเปค ได้นำเสนองานวิจัยที่สรุปว่า MSMEs ทั่วเอเชียแปซิฟิค ยังส่งออกได้น้อยมาก แม้ว่าต้นทุนของการทำการค้าทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิคลดลง แต่กลับพบว่าต้นทุนในการทำการค้าของ MSMEs สูงขึ้น เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำ คือ ให้รัฐบาลของเขตเศรษฐกิจเร่งลดอุปสรรคในการทำการค้า โดยเฉพาะต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ MSMEs ในภูมิภาคเอเปค ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
2. สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ได้เน้นย้ำถึงดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ว่าการปรับตัวของ MSMEs เปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ MSMEs ฟื้นตัวได้ ขณะเดียวกัน การจะทำให้ MSMEs อยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัล ยังมีอุปสรรคสำคัญด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยิ่งผ่านพ้นโควิด-19 MSMEs ส่วนใหญ่จะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อเพื่อการค้า ควรอาศัยข้อมูล แทนการอาศัยหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยภาคธุรกิจของเอเปค นำเสนอว่า เขตเศรษฐกิจต่างๆ ควรจะเร่งรัดส่งเสริม Supply Chain Financing แพลตฟอร์ม (สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ) เพื่อให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยอาศัยข้อมูลเรื่องการค้าแทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน
3. เป็นการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ประสบการณ์ต่างๆ ว่าแต่ละเขตเศรษฐกิจใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของไทยได้เน้นย้ำมาตรการหลักๆ ที่ช่วยเหลือ MSMEs ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจ อันได้แก่ การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ-ภาคเอกชน การลดระยะเวลาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทขนาดเล็ก หรือ MSMEs ให้สั้นลง (Credit Term) โดยมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่กลับมีผลกระทบสูง ทำให้ MSMEs สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม MSMEs โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการส่งเสริม MSMEs ของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นไทยจึงมีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน MSMEs ไม่ใช่เพียงกระทรวงเดียว แต่กว่า 10 กระทรวงที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
สำหรับผลการประชุม APEC SMEWG คาดว่าจะมีข้อเสนอร่วมกันใน 4 ด้าน ดังนี้
1. วิธีการส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น โดยผ่าน Fin Tech หรือ เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ
2. การเข้าถึงตลาด โดยการลดต้นทุนทางการค้าและส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและภาคเอกชน
3. ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ซึ่งมีประเด็น คือกลุ่มธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการขยายธุรกิจ จึงไม่ต้องปลดคนงานอีกทั้งยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
4. การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการหารือร่วมกัน โดย Green Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานที่จะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy – BCG) ซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลกให้ความสนใจ
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่ได้จากการประชุม APEC SMEWG นี้ จะนำเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ต่อไป